หนาวนี้เที่ยวชมธรรมชาติในป่า ระวังภัยจาก “ไข้มาลาเรีย”

0

ด้วยวันหยุดติดต่อกันยาวนานในช่วงนี้ ประกอบกับอากาศเย็นสบายของฤดูหนาว ทำให้หลายคนมักพาครอบครัว แก๊งเพื่อน หรือคนรู้ใจไปออกทริปตามสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ บ้างก็เดินป่า ตั้งแคมป์ นอนกางเต็นท์ หรือส่องสัตว์ในป่า ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้อาจทำให้คุณและคนที่คุณรักเสี่ยงต่อ “ไข้มาลาเรีย”

ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค รายงานว่า…

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 พฤศจิกายน 2559 พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียในประเทศไทย 16,651 ราย (ผู้ป่วยชาวไทย 11,600 ราย ผู้ป่วยชาวต่างชาติ 5,051 ราย) กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-24 ปี (18.07%) รองลงมาคือ 25-34 ปี (13.77%) และ 10-14 ปี (10.75%)

“โรคมาลาเรีย” (Malaria) หรือ “ไข้มาลาเรีย”

Camping area in the middle winter fog.

เกิดจากเชื้อโปรโตซัว โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ยุงชนิดนี้มีแหล่งเพาะพันธุ์บริเวณเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ ยุงก้นปล่องที่นำเชื้อมาลาเรียจะพบมากบริเวณป่าเขาชายแดนของประเทศ โดยยุงชนิดนี้เริ่มออกหากินเวลาใกล้ค่ำจนรุ่งสาง

หลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัดประมาณ 10-14 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย หากปล่อยทิ้งไว้อาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตในที่สุด

ในส่วนของการรักษาแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการให้ยารักษามาลาเรียตามชนิดของเชื้อ ความรุนแรงของโรค และสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละราย ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะอาจจะได้ยาที่ไม่มีคุณภาพ หรือเป็นยาที่ใช้ไม่ได้ผลทำให้มีการดื้อยา

ส่วนวิธีการป้องกันไข้มาลาเรียคือ… หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำไข้มาลาเรียกัด โดยการสวมเสื้อแขนยาวหรือกางเกงขายาวปกคลุมแขนขามิดชิด ทายากันยุง ทุกๆ 4 ชั่วโมงนอนในมุ้ง(ถ้าใช้มุ้งชุบน้ำยา จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน)หรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวด

แม้จะเป็นโรคที่น่ากลัว แต่ไข้มาลาเรียสามารถรักษาให้หายขาดได้ สิ่งที่สำคัญคือ ผู้ป่วยจะต้องรีบไปพบแพทย์อย่างทันท่วงทีและรับยารักษาอาการที่แพทย์จัดให้อย่างต่อเนื่อง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *