กลายเป็นโรคที่ระยะหลังเราได้ยินชื่อกันบ่อยครั้งในข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์ รวมถึงสื่อโซเชี่ยลต่างๆ สำหรับ “โรคซึมเศร้า” ที่น่าตกใจก็คือแม้จะเป็นอีกหนึ่งปัญหาด้านสุขภาพจิตที่ร้ายแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยคิดสั้นปลิดชีพตัวเอง แต่หลายคนกลับไม่รู้ตัวว่ากำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้าอยู่
โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) คือ…
โรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยไม่ได้เป็นบ้าและไม่ได้เป็นคนไม่ดี แต่เป็นคนที่มีอาการป่วยทางอารมณ์อย่างหนึ่งซึ่งต้องการการรักษา เพราะหากปล่อยไว้ ผู้ป่วยอาจคิดสั้นฆ่าตัวตายได้
โรคซึมเศร้า อาจเกิดหลังจากปัญหาความเครียดในชีวิต เช่น การสูญเสียคนรักหรือสิ่งที่รักในชีวิต ปัญหาเรื่องการเรียน การทำงาน ปัญหาอื่นๆ แต่ในบางคนอาจเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุก็ได้ จากการสำรวจทั่วโลกพบว่า ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 100 คน มีเพียง 10 คน เท่านั้น ที่มาพบแพทย์และได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ 5 ข้อติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน ว่าอาจถูกโรคซึมเศร้ามาเยือนเข้าแล้ว
- อารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด ก้าวร้าวไม่มีความสุข
- ขาดความสนใจสิ่งรอบข้างไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเจอใคร
- สมาธิเสีย คือ ไม่ค่อยมีสมาธิเวลาทำสิ่งต่างๆ
- รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยหน่ายไม่มีแรง ไม่อยากทำอะไร
- เชื่องช้า ทำอะไรก็เชื่องช้าไปหมดไม่มั่นใจตนเอง ไม่กล้าคิด
- รับประทานอาหารมากขึ้น หรือเบื่ออาหาร รับประทานน้อยลง
- นอนมากขึ้น หรือนอนน้อยลงไปจนถึงนอนไม่หลับ
- ตำหนิตัวเอง คิดว่าตัวเองไร้ค่า ทำผิด ทำไม่ดี คิดต่อตัวเองไม่ดี
- คิดอยากตายและพยายามฆ่าตัวตาย
การรักษาโรคซึมเศร้า เป็นการแก้ไขสาเหตุของการฆ่าตัวตาย โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ไม่ยาก เนื่องจากปัจจุบันนี้เรารู้สาเหตุแล้วว่าเกิดจากการทำงานแปรปรวนของสารสื่อนำประสาทที่มีผลต่ออารมณ์ ยารักษาโรคซึมเศร้าช่วยให้การทำงานของสารสื่อนำประสาทนั้นกลับมาเป็นปกติ ผู้ป่วยร้อยละ 80 รักษาให้หายได้ เมื่อได้รับยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจ เมื่อหายป่วยแล้วจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม