โรคฝีในตับ (Liver abscess)
โรคที่เกิดจากตับติดเชื้อและเกิดมีฝี/หนองขึ้นในตับ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงฝีเดียวตำแหน่งเดียว หรือหลายฝีก็ได้ โดยอาจเกิดร่วมกับที่อวัยวะอื่นๆเกิดมีฝีร่วมด้วย หรือเกิดมีฝีเฉพาะในตับก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรคฝีในตับที่พบได้ มีทั้งตับอักเสบชนิดฝีบิดอะมีบาและฝีแบคทีเรีย
โรคฝีตับเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่พบได้ในทุกวัย!
โรคฝีในตับมีสาเหตุจากตับติดเชื้อ ได้แก่…
1.เชื้อแบคทีเรีย พบได้บ่อยที่สุด ประมาณร้อย 80-85 ของฝีตับทั้งหมด
2.เชื้อบิดชนิดที่เป็น สัตว์เซลล์เดียว(Protozoa) เรียกว่า “ฝีบิดตับ” เพราะเชื้อชนิดนี้โดยทั่วไปเป็นสาเหตุสำคัญของโรคบิด ที่เรียกว่า “โรคบิดมีตัว”
3.เชื้อรามักเกิดในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ ป่วยโรคมะเร็ง และผู้ป่วยโรคเอดส์สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคฝีในตับ ได้แก่ มีการอักเสบรุนแรงของอวัยวะในช่องท้อง, มีการอักเสบติดเชื้อรุนแรงในระบบทางเดินน้ำดี, มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ, อุบัติเหตุต่อตับโดยตรง เช่น ถูกยิง ถูกแทง
อาการของโรคฝีในตับที่พบบ่อยที่สุด คือ ปวดท้องในตำแหน่งของตับ (ช่องท้องตอนบนด้านขวา) และมีไข้
และอาการอื่นๆที่อาจพบได้ เช่นเบื่ออาหาร, คลื่นไส้ อาเจียน, อ่อนเพลีย ผอมลง, ตัว ตาเหลือง, หนาวสั่น โดยโรคฝีในตับจัดเป็นโรครุนแรง แต่สามารถรักษาให้หายได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ สุขภาพร่างกายของผู้ป่วย อายุ และการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม อย่างไรก็ตามมีโอกาสเสียชีวิตได้ ถ้าโรครุนแรง เช่น มีฝีตับเกิดขึ้นหลายฝี ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิตร่วมด้วย และเมื่อเกิดเชื้อดื้อยา
การป้องกันโรคฝีในตับ คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรค รวมถึงการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
- ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
- ระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอาหาร และน้ำดื่ม
- ไม่กินอาหารดิบ/สุกๆ ดิบๆ หรือปรุงไม่สุก
- ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ หรือซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา
รวมถึงดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานอย่างการรับประทานอาหารให้ครบหมวดหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเหมาะสมตามสมรรถภาพร่างกาย และทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสไม่เครียด