“มีไข้-ปวดหัว-กล้ามเนื้อ” สัญญาณเตือนของโรคฉี่หนู ปัญหาหลังน้ำท่วม

0

ยังคงเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง สำหรับปัญหาสุขภาพที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะการระบาดของ “โรคฉี่หนู” ที่น่าเป็นห่วงคือ หลายคนไม่รู้ตัวว่าป่วยด้วยโรคนี้ กว่าจะรู้ตัวอาการก็รุนแรงมากแล้วส่วนคนที่อาศัยนอกเขตน้ำท่วมก็คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่จริงแล้ว “หนูบ้าน-หนูในที่ทำงาน” ก็สามารถก่อโรคฉี่หนูได้เช่นกัน

“โรคฉี่หนู”

หรือ “เล็ปโตสไปโรสิส” (Leptospirosis) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียจากสัตว์มาสู่คน โดยสามารถติดเชื้อโรคจากสัตว์ได้หลายชนิด เช่น หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ เป็นต้น แต่พบว่าสาเหตุมาจากหนูซึ่งเป็นแหล่งรังโรคมากที่สุด โดยเชื้อโรคมาจากในปัสสาวะของหนู ผู้ป่วยที่เป็นโรคฉี่หนูมีอาการที่หลากหลายแตกต่างกันไป อาจอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และแม้เคยเป็นโรคนี้แล้วก็ยังสามารถเป็นได้อีก

leptospirosis-2

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า…

นับตั้งแต่เกิดเหตุน้ำท่วมในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ จนขณะนี้ระดับน้ำลดลง พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูสะสมจำนวน 157 ราย เสียชีวิต 3 ราย โดยสถานการณ์มีแนวโน้มพบผู้ป่วยมากขึ้น สำหรับสาเหตุที่ทำให้โรคฉี่หนูมีความรุนแรงจนเสียชีวิตนั้น

อาจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 3 เรื่อง

  1. มาพบแพทย์ช้า เนื่องจากไม่คิดว่าเป็นโรคนี้ เมื่อมีอาการปวดในระยะแรกๆ ก็กินแค่ยาพาราเซตามอล และคิดว่าทนได้ รวมถึงยุ่งกับการจัดการบ้านเรือนจึงไม่ไปพบแพทย์
  2. แพทย์วินิจฉัยได้ช้า เพราะเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกแทบทุกวัน จึงวินิจฉัยถึงโรคไข้หวัดและปอดบวมก่อน
  3. เชื้ออาจมีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากช่วงน้ำท่วมปริมาณน้ำมีมากทำให้เชื้อเจือจาง ดังนั้น เมื่อน้ำลดลงทำให้เชื้อมีความเข้มข้นมากขึ้น

เชื้อโรคฉี่หนูเข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรืออาจไชเข้าทางผิวหนังที่เปียกชุ่มจากการแช่น้ำนานๆ หรือไชเข้าทางเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุตา จมูก ปาก ดังนั้นการดื่มน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคก็อาจติดเชื้อได้ รวมถึงการสูดหายใจเอาละอองปัสสาวะที่มีเชื้อโรคหากมีประวัติสัมผัสน้ำ มีไข้ มีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ให้สงสัยว่าเป็นโรคฉี่หนูไว้ก่อน และรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาและลดความรุนแรงของโรคอย่างตรงจุด ห้ามซื้อยากินเองโดยเด็ดขาด

หากพบว่าตนมีความเสี่ยงต่อโรคอย่ารอจนมีอาการรุนแรงแล้วจึงไปพบแพทย์ โดยผู้ป่วยที่มีอาการหนักคือตัวเหลือง ไอเป็นเลือด ส่วนใหญ่มักเสียชีวิตได้ เนื่องจากภายในร่างกายเกิดภาวะแทรกซ้อน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *