“คีลอยด์” แผลเป็นนูน ความจริงแล้วใครบ้างที่เสี่ยงเป็นมากที่สุด?

0

แม้ไม่ใช่โรคแต่ “คีลอยด์” ก็สร้างผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ไม่แพ้โรคบางโรคทีเดียว โดยนอกจากการเสียภาพลักษณ์ ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ “คีลอยด์” หรือ “แผลเป็นนูน” ยังอาจก่อให้เกิดอาการคัน เกาจนเลือดออก หรือเกิดแผลติดเชื้อจากการเกาได้ ว่าแล้วเรามาเติมความรู้เกี่ยวกับ “คีลอยด์” กันค่ะ

“คีลอยด์” (Keloid)

หรือ “แผลเป็นนูน” คือ ภาวะมีเนื้อเยื่อพังผืดเจริญเกินปกติ เห็นเป็นพังผืดหนาในบริเวณรอยแผลต่างๆ เช่น แผลผ่าตัด แผลผ่าคลอด แผลเจาะหู แผลจากสิว แผลไฟไหม้ แผลจากฉีดวัคซีน แผลยุงกัด โดยอาจเกิดขึ้นทันทีที่แผลหาย หรือหลังจากแผลหายเป็นเดือนหรือเป็นปี แม้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ แต่อาจทำให้รู้สึกเจ็บ คัน หรือระคายเคืองได้ โดยพบได้ในทุกช่วงวัย ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

keloid

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมจึงเกิดแผลเป็นนูนขึ้น แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

  1. ภูมิคุ้มกันร่างกายในการตอบสนองต่อการเกิดบาดแผลผิดปกติ จึงกระตุ้นให้เกิดแผลเป็นนูน
  2. มีฮอร์โมนบางชนิดกระตุ้นให้การซ่อมแซมบาดแผลผิดปกติจนกลายเป็นแผลเป็นนูน
  3. เกิดจากสารบางชนิดที่เป็นปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ Growth factor ที่เข้ามาซ่อมแซมบาดแผลผิดปกติจึงก่อให้เกิดแผลเป็นนูนขึ้น

แผลเป็นนูน มีได้ 2 แบบ

  1. แผลเป็นนูนชนิดลุกลามออกนอกตัวแผล ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ยุบหายไปเอง มักเกิดบริเวณส่วนบนของหน้าอก หัวไหล่ ต้นแขน และหู แผลมีลักษณะหนา และมักเกิดหลังแผลหายแล้ว อย่างน้อย 3 เดือนไปแล้ว
  2. แผลเป็นนูนชนิดเกิดเฉพาะบนตัวแผล ไม่ลุกลามออกนอกรอยแผล เพียงแต่รอยแผลใหญ่ นูนขึ้น พบได้บ่อยบริเวณข้อพับ มักเกิดภายใน 1 เดือน หลังแผลหาย และค่อยๆ ยุบตัวลงเมื่อผ่านไปเป็นเดือนหรือเป็นปี

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นนูน เมื่อมีแผลเกิดขึ้น

  1. พันธุกรรม คนที่มีคนในครอบครัวเป็นแผลเป็นนูน มีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนได้ง่าย และเมื่อเคยเป็นแผลเป็นนูนมาก่อน มักเกิดแผลเป็นนูนได้ง่ายเมื่อเกิดแผลต่างๆขึ้น
  2. เชื้อชาติ พบการเกิดแผลเป็นนูนในเชื้อชาติจีนและคนผิวดำมากกว่าในคนผิวขาว
  3. อายุ พบการเกิดแผลเป็นนูนในวัยรุ่นสูงมากกว่าในเด็กและในผู้สูงอายุ
  4. สาเหตุของแผล โดยแผลจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก มีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนสูงกว่าแผลอื่นๆ
  5. แผลที่หายช้า โดยแผลที่หายช้าเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป มีโอกาสเกิดแผลเป็นนูนได้สูงขึ้น

เพราะไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัดในการเกิดคีลอยด์ ฉะนั้นการหาวิธีรักษาและป้องกันแผลเป็นนูนจึงเป็นเรื่องสำคัญ  ส่วนจะเลือกใช้วิธีรักษาอย่างไรก็อยู่ที่ความต้องการของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *