อาการสั่นที่ควบคุมไม่ได้ของกล้ามเนื้อ ดูจะเป็นภาพจำที่คนส่วนใหญ่นึกถึงยามกล่าวถึงผู้ป่วย “โรคพาร์กินสัน” แท้จริงแล้วผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากอาการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแลได้เช่นกัน แต่จะมีอะไรบ้างนั้นไปเติมความรู้กันค่ะ
“โรคพาร์กินสัน”
เป็นโรคเรื้อรังทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุทั่วโลก หรือประมาณร้อยละ 1 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ความชุกของโรคจะพบสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอายุน้อยลงหรือประมาณ 40-50 ปี เพิ่มขึ้น
โดยข้อมูลจาก รศ.นพ. ประวีณ โล่ห์เลขา หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า…
โรคพาร์กินสันเกิดจากการเสื่อมของเซลล์ในระบบประสาทส่วนกลางซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างสารสื่อประสาทที่เรียกว่า โดปามีน (Dopamine) มีหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อปริมาณของสารโดปามีนลดลงจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ จะทำให้เกิดอาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เช่น อาการสั่น เคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง และทรงตัวลำบาก ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะมีการดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป
นอกจากนี้ผู้ป่วยมักมีอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหว เช่น อาการอ่อนเพลีย ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ นอนละเมอ ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก หลงลืมง่าย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวมาก่อนกลุ่มอาการทางการเคลื่อนไหวอีกด้วย สำหรับอาการของผู้ป่วยพาร์กินสัน ที่นอกเหนือจากอาการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ได้แก่
- อาการท้องผูกเป็นประจำ อาการนอนละเมอคล้ายตอบสนองต่อความฝัน (REM behavior disorder, RBD) อาการซึมเศร้า และความผิดปกติของการดมกลิ่นหรือรับรส สามารถพบได้ตั้งแต่ก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการทางการเคลื่อนไหว ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเหล่านี้นำมาก่อนล่วงหน้าได้นานถึง 5-10 ปี
- อาการวิตกกังวล ปวดเกร็ง ปัสสาวะลำบาก อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ สามารถพบได้ในทุกระยะของโรค
- อาการหลงลืมง่าย ประสาทหลอน กลืนลำบาก สำลัก และทรงตัวลำบากมักเป็นอาการที่ตามมาในระยะหลัง
ผู้ป่วยพาร์กินสันแต่ละรายอาจมีอาการที่นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวที่มากน้อยแตกต่างกัน ฉะนั้น การสังเกตอาการเจ็บป่วยของตนอย่างละเอียด สามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและทำการรักษาได้ตรงจุดค่ะ