“โรคหอบจากอารมณ์”
หรือ Hyperventilation Syndrome คือการที่ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเร็วและลึกอยู่นาน จนทำให้เกิดความผิดปกติของค่าสารเคมีในเลือด ทำให้มีอาการต่างๆ ทางร่างกายติดตามมา ซึ่งมักสัมพันธ์กับภาวะวิตกกังวล หรือได้รับความกดดันทางจิตใจ ก่อนหน้าที่จะมีอาการ ซึ่งอาการดังกล่าว เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว โรคนี้พบได้ในทุกวัย แต่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบเร็ว หายใจลำบาก หน้ามืด เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ใจสั่น อาจพบอาการเกร็ง มือจีบ และชาบริเวณรอบปากและนิ้วมือได้ ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดลดลง ทำให้เกิดการหดตัวของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะที่สมอง รวมทั้งมีการลดลงของค่าแคลเซียมที่เป็นตัวออกฤทธิ์ในเลือดด้วย อาการดังกล่าวมักสัมพันธ์กับภาวะวิตกกังวล
โดยก่อนเกิดอาการอาจพบว่า ผู้ป่วยมีปัญหากดดันจิตใจ เช่น ทะเลาะกับคนใกล้ชิด เครียดเรื่องเรียน ฯลฯ
การรักษาอาการหายใจหอบทำได้โดยการพยายามหายใจให้ช้าลง หรือให้หายใจในถุงกระดาษที่ครอบทั้งปากและจมูก รวมทั้งการได้รับยาในกลุ่มยาคลายกังวล จะช่วยให้อาการหายใจหอบทุเลาลง ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจให้ช้าลงได้อาจพกถุงกระดาษติดตัวเพื่อใช้เวลาเกิดอาการ
ความที่อาการของ “โรคหอบจากอารมณ์” มีความคล้ายคลึงกับอาการหอบจากสาเหตุทางกายได้หลายสาเหตุ เช่น โรคหอบหืด,ปอดอักเสบ, ภาวะหัวใจขาดเลือด, ภาวะเป็นกรดในเลือดจากเบาหวาน ฯลฯ ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการดูแลที่ถูกต้องตามสาเหตุต่อไป
แม้ “โรคหอบจากอารมณ์” จะไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต หากไม่ได้เกิดจากสาเหตุทางกายอื่นๆ แต่ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมเมื่อเกิดอาการ และเนื่องจากอาการหอบทางอารมณ์มักสัมพันธ์กับความตึงเครียดที่เกิดขึ้น
ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการรับมือและการแก้ไขสาเหตุของความตึงเครียด รวมทั้งควรได้รับการดูแลด้านจิตใจ เพื่อให้ปรับตัวในการรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น