“ความดันโลหิตสูง”อีกหนึ่งโรคร้ายที่คนไทยป่วยเพียบ

0

โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่อ้วน มีไขมันในเลือดสูงหรือสูบบุหรี่ มีโอกาสเป็นโรคนี้มากหลายคนอาจจะเข้าใจว่าความดันโลหิตสูงไม่อันตราย เพราะการที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเริ่มแรกนั้นมักจะไม่มีอาการแสดงให้รู้ แต่จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เมื่อปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมามากมาย เช่น จอประสาทตาเสื่อม ไตวาย อัมพาต หรือหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกในปี 2554 ทั่วโลกมีผู้มีความดันโลหิตสูงเกือบ 1,000 ล้านคน โดยพบว่า คนในวัยผู้ใหญ่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย 1 ใน 3 คนมีภาวะความดันโลหิตสูง

สำหรับประเทศไทยในปี 2556 พบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่ 90,564 คน และยังพบจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้น จากปี 2555 จำนวน 3,684 คน เพิ่มเป็น 5,165 คน ในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นถึง 1,481 คน

ThinkstockPhotos-475269083

ความดันโลหิตนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. อายุ โดยมากความดันโลหิตจะสูงขึ้นตามอายุ แต่ไม่ได้เป็นกฎตายตัวเสมอไป ฉะนั้นไม่ว่าอายุเท่าใดก็ตาม ถ้ามีความดัน 140/90 มิลลิเมตรของปรอทหรือมากกว่า ถือว่าเป็นภาวะความดันโลหิตสูง
2. เวลา ความดันโลหิตจะไม่เท่ากันตลอดทั้งวัน มีการขึ้นๆ ลง ๆ ในเวลานอนหลับ ความดันซีลโตลิก มักจะลดลงจนเหลือเพียง 60 – 70 มิลลิเมตรปรอท แต่พอตื่นขึ้นความดันนี้จะสูงขึ้นเป็น 130 มิลลิเมตรปรอท เป็นต้น
3. จิตใจและอารมณ์ ทำให้ความดันโลหิตเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและอยู่ได้นานได้ เช่น คนที่เพิ่งทะเลาะกับคนอื่นด้วยความโกรธ ความดันโลหิตขึ้นไปสูงกว่าเดิม 30 มิลลิเมตรปรอท และคงอยู่เช่นนั้นหลายชั่วโมง
4. กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม มีส่วนช่วยทำให้เป็นความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เคร่งเครียดก็ทำให้มีแนวโน้มเป็นโรคนี้สูงมากขึ้น
5. ปริมาณเกลือที่รับประทาน มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะความดันโลหิตสูงด้วย กล่าวคือ ผู้ที่รับประทานเกลือมากจะพบว่ามีความดันสูงกว่าผู้ที่รับประทานเกลือน้อยกว่า

ข้อแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงความดันโลหิตสูง

1. ลดการกินอาหารรสเค็ม อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง และอาหารขยะ
2. เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4.งดและลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
5. ตรวจเช็คความดันโลหิตทุก 6 เดือน และหากพบความดันโลหิตสูงผิดปกติ ควรรีบปรับพฤติกรรม รวมถึงไปพบแพทย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *