ปัจจุบันประเทศไทยพบอัตราการเสียชีวิต การรักษาโรคที่ไม่หายขาดของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องใช้เวลารักษายาวนานและมีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งต้องเผชิญกับความเจ็บปวดขณะเกิดโรค คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อป่วยเป็นโรคที่ไม่หายขาดควรดูแลตัวเองยังไง?
เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสุขในการดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไปการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นรูปแบบการดูแลสุขภาพที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยด้วยโรคที่คุกคามต่อชีวิต ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
โดยหลักการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ควรเน้นการรักษาที่ครอบคลุม 4 ด้านได้แก่
- การดูแลรักษาทางร่างกาย การดูแลผู้ป่วยด้วยโภชนศาสตร์ และเวชศาสตร์ฟื้นฟู เช่น การบรรเทาปวดโดยใช้ยาระงับปวดเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยทรมาน การป้องกันแผลกดทับ ในผู้ป่วย การจำกัดกิจกรรมและให้ความช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย เช่น การลุกเดิน การเข้าห้องนํ้า รวมทั้งให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- การดูแลรักษาทางจิตใจ ซึ่งในเบื้องต้นผู้ป่วยอาจมีอาการช็อกและปฎิเสธการรักษา โกรธ รับตัวเองไม่ได้ ถึงขั้นซึมเศร้า แพทย์และพยาบาลจะต้องให้เวลากับผู้ป่วย เข้าใจ เห็นใจ รับฟังปัญหาของผู้ป่วย รวมถึงให้ญาติและเพื่อน เข้ามามีส่วนร่วมให้กำลังใจ
- การดูแลรักษาทางด้านสังคม ให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมกับญาติ ครอบครัว เพื่อนๆ เพื่อให้กำลังใจระหว่างกัน
- การดูแลรักษาทางด้าน จิตวิญญาณ มีการปฎิบัติกิจกรรมทางศาสนา เช่น เปิดเทปและอ่านหนังสือธรรมะ สวดมนต์ทุกวันพระร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ญาติและเจ้าหน้าที่
การดูแลเริ่มจากที่เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาดจนกระทั่งป่วยอยู่ในระยะท้าย หรือกำลังจะเสียชีวิตจากโรค โดยสามารถดูแลควบคู่ไปกับการรักษาเฉพาะสำหรับโรคนั้นๆเน้นการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพและยอมรับความตายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของทุกชีวิต
รวมถึงเน้นการไม่ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ หรือวิธีการรักษาใดๆ เพียงเพื่อยื้อความทรมานของผู้ป่วย โดยไม่เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยด้วยโรคที่ไม่หายขาด มีความสุขในการดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ต่อไป