กรมควบคุมโรค พบว่าในปี 2559 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 กรกฎาคม 2559 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 6 ราย จากจังหวัดฉะเชิงเทรา 2 ราย และจังหวัดตาก ระยอง สมุทรปราการ สงขลา จังหวัดละ 1 ราย
โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies Virus)
เป็นโรคติดต่อชนิดรุนแรงประเภทหนึ่งที่ระบาดหนักในช่วงฤดูร้อน สามารถติดต่อมายังคนได้โดยสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิดที่เป็นพาหะ ซึ่งมีเชื้อไวรัสชนิดโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ในน้ำลาย เช่น สุนัข แมว หนู กัด ข่วน หรือเลียบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผลที่น่ากลัว คือ โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ตลอดทั้งปี ไม่มีทางรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกรายหากติดเชื้อและมีการแสดงอาการแล้ว
อาการของโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มจาก 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผลและลำตัว ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก กลัวน้ำ กล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด
การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถทำได้โดย…
- เมื่อสุนัขมีอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป ให้พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และฉีดวัคซีนเป็นประจำทุกปี
- หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน เพื่อกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน
- อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่ง กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ
ทั้งนี้ หากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยว่าเป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ควรรีบปฐมพยาบาลโดยการล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง
ถ้าแผลลึกให้ล้างถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที ระวังอย่าให้แผลช้ำ ห้ามใช้ครีมใดๆ ทา ถ้ามีเลือดออกควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น แล้วเช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จากนั้นไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องตามเวลาและครบชุด