มีข้อมูลจากการศึกษาวิจัยต่างๆ ให้เราตระหนักถึงภัยร้ายของ “ความดันโลหิตสูง” อยู่บ่อยครั้ง แต่หลายคนยังคงมองข้าม แต่ถ้าได้ฟังข้อมูลนี้คุณอาจจะต้องกลับมาใส่ใจสุขภาพอย่างจริงจังแล้วล่ะค่ะ เพราะเรากำลังจะบอกว่า ความดันโลหิตสูงสามารถทำให้เกิดอันตรายหรือทำลาย 5 อวัยวะสำคัญได้!
โรคความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุที่สำคัญต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งภาวะความดันเลือดสูง (มากกว่า 140/90 มม.ปรอท) เป็นอยู่นานและไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดการทำลายอวัยวะสำคัญต่างๆ ในร่างกายได้ โดย นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า ความรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคความดันโลหิตสูง จะทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ ดังนี้…
1.สมอง
จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือหลอดเลือดในสมองแตก มีเลือดออกในเนื้อสมองส่งผลให้เกิดอัมพาต อัมพฤกษ์ หากพบอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงต้องรีบมาโรงพยาบาลภายใน 1 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้เสียชีวิตหรือทำให้เลือดออกในสมองรุนแรงได้
2.หัวใจ
ความดันโลหิตสูงจะมีผลต่อหัวใจ 2 ทาง คือ ทำให้หัวใจโต และหลอดเลือดหัวใจหนาตัวและแข็งตัวขึ้น เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน จะมีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจล้มเหลว เหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ หัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น และอาจเสียชีวิตได้
3.หลอดเลือด
ความดันโลหิตสูงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบ หรือหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อาจเกิดการฉีกขาด เจ็บหน้าอกรุนแรง เสียชีวิตเฉียบพลัน
4.ตา
ความดันโลหิตสูงมีผลต่อหลอดเลือดที่ตา เช่น เลือดออกที่จอประสาทตา หลอดเลือดเล็กที่จอประสาทตาอุดตัน หรือจอประสาทตาหลุดลอก ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดๆ หรือมีอาการตามัว จนถึงตาบอด
5.ไต
ความดันโลหิตสูงมีผลต่อหลอดเลือดที่ไต ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ ทำให้ไตเสื่อมสมรรถภาพและอาจทำให้เกิดไตวายเรื้อรัง อาการเริ่มแรกของภาวะไตวายเรื้อรัง คือ ปัสสาวะตอนกลางคืน มากกว่า 3 ครั้งต่อคืน ขาบวมตอนเช้าหลังตื่นนอน มีอาการอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีแรงจากภาวะซีด มักพบในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึมลงในผู้ป่วยไตวายระยะท้ายๆ ปัสสาวะมีสีขุ่นและเป็นฟองมาก
ภาวะความดันโลหิตสูงสามารถป้องกันได้ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน เค็ม มัน งดดื่มเหล้า-สูบบุหรี่ รวมถึงทำอารมณ์ให้แจ่มใส ไม่เครียด และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ