“เหงื่อออกเป็นเลือด” ใครจะคิดว่าอาการแบบนี้จะมีอยู่จริง ไม่ได้มีแค่ในหนังสยองขวัญล่าสุดเพิ่งเป็นข่าวฮือฮาตามสื่อต่างๆ ในบ้านเรา ทั้งกรณีเด็กหญิงชาวขอนแก่นวัย 14 ปี และเด็กหญิงชาวหนองคายวัย 7ปี ซึ่งป่วยมีอาการเหงื่อออกเป็นเลือด อย่าเพิ่งมองว่าเป็นโรคประหลาด ลองมาทำความรู้จักโรคนี้กันก่อนค่ะ
“โรคเหงื่อออกเป็นเลือด”
หรือ “ภาวะเหงื่อออกเป็นเลือด” (Hematidrosis) เป็นภาวะที่มีเลือดออกจากผิวหนังปกติที่ไม่มีร่องรอยบาดแผลใดๆ ซึ่งสามารถพบเลือดออกได้ตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น หนังศีรษะ ฝ่ามือ หลังมือ หน้าผาก ใบหน้า ซอกพับ หรือดวงตา เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก แต่มักสร้างความตื่นตกใจและความเครียดต่อผู้ที่เป็นและผู้ที่พบเห็น
อาการผู้ป่วยคือจะมีเลือดออกบริเวณผิวหนัง และเยื่อบุอวัยวะอื่นๆ ซึ่งเลือดจะไหลออกเป็นพักๆ ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการเจ็บหรือปวดแสบบริเวณที่จะมีเลือดออกนำมาก่อน บางรายอาจมีอาการใจสั่น หน้ามืด คล้ายจะเป็นลมร่วมด้วย เลือดที่ออกอาจจะเป็นเลือดแดงสด หรือน้ำสีแดงจาง อาจมีกลิ่นคาวเลือด ปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน และสามารถหยุดได้เองในเวลาไม่นาน
สำหรับสาเหตุของโรคยังไม่แน่ชัด บางรายเกิดจากเส้นเลือดฝอยรอบๆ บริเวณต่อมเหงื่อ เปราะบาง เกิดการปริแตก และมีเลือดไหลออกมา บางรายเกิดจากการอักเสบของเส้นเลือดฝอย หรือบางเคสก็พบว่ามีการขยายตัวของเส้นเลือดมากกว่าปกติในตำแหน่งที่มีเลือดออกซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม แต่อาจพบสัมพันธ์กับภาวะความเจ็บปวดทางร่างกาย เช่น เป็นโรคเรื้อรังบางชนิด การออกกำลังกายอย่างหนัก การมีประจำเดือนผิดปกติ นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียด ภาวะทางอารมณ์ที่รุนแรง
“โรคเหงื่อออกเป็นเลือด”พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สำหรับในเพศหญิงจะอยู่ในช่วงอายุก่อนมีประจำเดือน พบมากระหว่างอายุประมาณ 11-14 ปี โดยทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ100 ราย อย่างไรก็ตาม โรคเหงื่อออกเป็นเลือดสามารถรักษาให้หายขาดได้ และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคนี้
การรักษา “โรคเหงื่อออกเป็นเลือด” ขึ้นกับสาเหตุ ส่วนในรายที่ตรวจไม่พบสาเหตุใดๆ การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการและการรักษาปัญหาทางจิตใจควบคู่กันไป