รอคอยกันตั้ง 4 ปีกว่าจะมีให้ชม ให้ลุ้น ให้เชียร์ พอถึงช่วงโอลิมปิกเกมส์ หลายคนเลยจัดเต็ม เชียร์กันแบบลุ้นขั้นสุด จนนำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพ ดังกรณีอันน่าสลดใจที่คุณยายวัย 82 ปี ลุ้นการแข่งขันของหลานชายจนเกิดช็อกหมดสติ จนญาติต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในที่สุด
“ภาวะหัวใจล้มเหลว” หรือ “หัวใจวาย” (Heart failure)
กลุ่มอาการที่เกิดจากหัวใจทำงานสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอหรือเกิดจากโครงสร้างกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ จนทำให้ขาดประสิทธิภาพในการบีบตัวของหัวใจ
การเชียร์กีฬาก็เหมือนกับการออกกำลังกาย ทำให้หัวใจทำงานหนัก เพราะการเชียร์ทำให้เกิดความตื่นเต้น ดังนั้น ใครที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจจึงต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ คนมีโรคประจำตัว โรคหัวใจ
หากตื่นเต้นมากๆ อาจทำให้เกิดปัญหาได้
“ภาวะหัวใจล้มเหลว” เป็นภัยเงียบที่น้อยคนนักจะรู้ตัวและรักษาได้ทันท่วงที คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่ เมื่อเชียร์หรือลุ้นจนเกินไปจึงทำให้หัวใจผิดปกติได้ฉะนั้นหากอยากรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่ ควรไปโรงพยาบาลเพื่อเข้าตรวจเช็คด้วยโปรแกรมประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจว่ามีโอกาสเสี่ยงกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงก็จะรู้จักป้องกันตัวเอง
เคล็ดลับดูแลสุขภาพของหัวใจ
- จัดสรรเวลาการรับชม และการพักผ่อนให้เหมาะสม อย่าให้กระทบทั้งสุขภาพ การเรียน และการทำงาน
- ควบคุมอารมณ์ให้ได้ คิดเผื่อใจเอาไว้บ้าง เพราะผลการแข่งขันอาจไม่ได้เป็นอย่างใจเรา
- อย่าฝืน หากร่างกายไม่ไหว หากตื่นเต้นมากๆ จนใจสั่นก็อาจจะหยุดเชียร์ ไปปรับอารมณ์ตนเองแล้วรอฟังผลภายหลังการแข่งขันก็ได้ ดีกว่าเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดอาหารไขมันสูง อาหารรสจัด งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม รวมทั้งการลดความเครียด
- สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ขอให้กินยาต่อเนื่อง ตรงเวลาใช้ความระมัดระวังในการชม ไม่ตื่นเต้นจนเกินไป
ทุกอย่างหากเกินพอดีก็ย่อมไม่ส่งผลในทางที่ดีอย่างแน่นอน…