ผ่านหูผ่านตากันมาบ้างไม่มากก็น้อยแต่หลายคนยังคงไม่ใส่ใจเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวทั้งที่ “โรคตับอักเสบ” ถือเป็นปัญหาสำคัญของสาธารณสุขทั่วโลกโดยโรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส แบ่งเป็นชนิดเอ บี ซี ดี อี และ จีซึ่งชนิดที่คนไทยป่วยกันมากคือ…
“ไวรัสตับอักเสบชนิดบี”
โรคตับอักเสบแต่ละชนิดจะมีการติดต่อและแพร่เชื้อที่แตกต่างกัน เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ และ อี สามารถแพร่เชื้อทางอาหาร น้ำดื่ม ผักผลไม้ สัตว์น้ำจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงระบบสุขอนามัยที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การขับถ่ายอุจจาระลงแหล่งน้ำลำคลอง ส่วนไวรัสตับอักเสบบี ซี ดี และ จี
พบเชื้อในเลือด น้ำเหลือง สารคัดหลั่ง น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำลาย น้ำตา น้ำนม ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อได้หลายทาง เช่น ทางเพศสัมพันธ์ ทางแม่สู่ลูก เป็นต้น
ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และอาจกลายเป็นมะเร็งตับได้
ข้อมูลจากกรมการแพทย์ พบสถิติผู้ป่วยมีเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี อยู่ในกระแสเลือดถึงร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 9 ล้านคน ขณะที่ทั่วโลกพบว่า
มีผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดนี้มากกว่า 350 ล้านคน สิ่งที่น่ากลัวของไวรัสตับอักเสบชนิดบี คือ เมื่อรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ผู้ที่ได้รับเชื้อจะไม่แสดงอาการใดๆ อาจมีไข้ ปวดเมื่อย ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา
การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคตับอักเสบ
- รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่และครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีคุณสมบัติบำรุงตับ เช่น กะหล่ำปลี แครอท ลิ้นจี่ และดื่มน้ำสะอาด
- หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารไขมันสูง รวมถึงหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่
- ควบคุมน้ำหนัก โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
- ใช้ช้อนกลางเวลารับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และไม่ใช้ของมีคม หรือแปรงสีฟันร่วมกัน
- สวมทุกยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์
- ดูแลสุขอนามัยของร่างกายให้สะอาด โดยเฉพาะการล้างมือทุกครั้งหลังทำกิจกรรมต่างๆ
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ คือ ไวรัสตับอักเสบเอ และไวรัสตับอักเสบบี สามารถให้ได้ในผู้ที่ยังไม่เคยรับเชื้อมาก่อน โดยก่อนการให้วัคซีนจะต้องได้รับการตรวจร่างกายโดยแพทย์เสียก่อน