“โรคไข้หวัดนก” เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ ในสัตว์ปีก หรือที่เรียกกันว่า “ไข้หวัดนก” โดยสัตว์ปีกทุกชนิด ติดเชื้อนี้ได้ เช่น ไก่ เป็ด นกน้ำ นกชายทะเล เป็นต้น ซึ่งเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ก็มีหลายสายพันธุ์ ที่ที่ก่อให้เกิดโรคในคนได้ สำหรับสายพันธุ์ที่เราจะขอโฟกัสในครั้งนี้ คือ…
ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก สถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั่วโลก ในส่วนของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 พบผู้ติดเชื้อยืนยันทั้งสิ้น 809 ราย เสียชีวิต 322 ราย และตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2560 พบผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย
เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 มีความแตกต่างกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A(H1N1) และ A(H5N1) เนื่องจากเป็นคนละสายพันธุ์กัน ถึงแม้ว่าจะเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ ชนิด A เหมือนกัน โดยเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H7N9 และ H5N1 ส่วนใหญ่ เป็นเชื้อไวรัสที่ติดเชื้อในสัตว์
แต่บางครั้งก็ติดเชื้อในคนได้ ส่วนเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ H1N1 อาจจําแนกได้เป็นชนิดที่ปกติจะติดเชื้อในคน หรือชนิดที่ปกติจะติดเชื้อในสัตว์สำหรับอาการหลักของผู้ป่วย “ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9” จะมีอาการปอดอักเสบรุนแรง ร่วมกับอาการไข้ ไอ หายใจลําบาก และมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ แต่พบได้น้อยมาก
“ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9” สามารถป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยขั้นพื้นฐานรวมไปถึงการล้างมือ การป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจการรับประทานอาหารที่ปลอดภัย อันได้แก่…
- การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังจากเข้าห้องน้ำหลังสัมผัสสัตว์หรือมูลสัตว์เมื่อมือสกปรก รวมทั้งก่อนและหลังการดูแลคนในบ้านที่ป่วย
- ควรปิดจมูกและปากด้วยกระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าขณะที่จามหรือไอ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อ
ไวรัสต่างๆ ไปยังบุคคลอื่น - หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยการประกอบอาหารควรใช้อุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ในการทําให้อาหารสุกอย่างทั่วถึง
ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ที่เกิดขึ้นในคน ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือการดูแลสุขอนามัยตามที่กล่าวไปข้างต้น และหมั่นติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการระบาดของโรคเพื่อป้องกันตัว