จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อพฤศจิกายน 2558 รายงานว่าผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในทวีปเอเชียส่วนใหญ่แนวโน้มลดลง แต่มีบางประเทศที่มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นคือ…
“ประเทศไทย”
โดยเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมก่อนจะเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลประจำปี (ช่วงมกราคมถึงมีนาคม) เรามารู้จักโรค “ไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ” ให้มากขึ้นดีกว่า
“ไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1” (A/H1N1)
หรือ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” เป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในคน แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 (A/H1N1) ซึ่งเป็นเชื้อตัวใหม่ที่ไม่เคยพบทั้งในสุกรและในคน เป็นเชื้อที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ซึ่งมีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่คน ไข้หวัดใหญ่สุกร และไข้หวัดใหญ่สัตว์ปีกด้วย
คนส่วนใหญ่ติดโรคไข้หวัดใหญ่จากการถูกละอองฝอยไอจาม น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยโดยตรง หรือได้รับเชื้อทางอ้อมผ่านทางมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เช่น ลูกบิดประตู โทรศัพท์ แก้วน้ำ แล้วใช้มือแคะจมูก ขยี้ตา ป้ายปาก โดยไม่ได้ล้างมือใหเสะอาดก่อน
โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส 1-3 วัน และอาจเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนป่วย ช่วง 3 วันแรกจะแพร่เชื้อได้มากที่สุด และระยะแพร่เชื้อมักไม่เกิน 7 วัน
ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีอาการใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบตามปกติเช่น ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง สามารถหายป่วยได้เองหรือรับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล (ห้ามใช้ยาแอสไพริน) โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่ผู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ ภาวะอ้วน หญิงมีครรภ์