ป่วย “เกาต์” ซื้อยากินเอง เสี่ยงไตวาย!

0

“โรคเกาต์” (Gout)

เป็นโรคข้ออักเสบที่ปวดเรื้อรังชนิดหนึ่ง และยังเป็นปัญหาโรคข้อที่สำคัญในปัจจุบัน แต่แม้จะเป็นโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก แต่คนส่วนใหญ่กลับมีความรู้เกี่ยวกับโรคเกาต์น้อยมาก รวมถึงเข้าใจว่าโรคไม่ได้อันตรายอะไรจึงซื้อกินเองตามอาการ หารู้ไม่ว่าอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต!!

ข้อมูลจาก ผศ.พญ.กนกรัตน์ นันทิรุจ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายกสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย สรุปความได้ว่า

อุบัติการณ์ของโรคเกาต์ที่สูงขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรฐานความเป็นอยู่ อาหาร สภาวะทางโภชนาการ เกินความพอดีในยุคปัจจุบัน ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เช่น รับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนมาก หรือพืชผัก ผลไม้หรือ น้ำผลไม้บางชนิด หรือ แอลกอฮอล์ ก็มีส่วนกระตุ้นการสร้างกรดยูริกในร่างกาย

gout-sick-to-buy-self-reliance-risk-of-kidney-failure

สาเหตุของโรคเกาต์

เกิดจากภาวะกรดยูริก (Uric acid) ในเลือดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยภาวะกรดยูริกสูงหมายถึงระดับกรดยูริกมากกว่า 7 มก./ดล. ในเพศชาย และ 6 มก./ดล. ในเพศหญิง โรคเกาต์พบบ่อยในชายวัยกลางคนขึ้นไป หรือหญิงในวัยหมดประจำเดือน ซึ่งการสะสมของกรดยูริกในร่างกายเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคเกาต์ขึ้นได้ โดย เกิดโรคได้ในหลายอวัยวะ ได้แก่ ข้อ ผิวหนัง และไต

อาการที่พบบ่อยที่สุด

อาการทางข้อ ได้แก่ ข้ออักเสบเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดอย่างรุนแรงและฉับพลันทันทีทันใด ข้อที่เป็นจะบวมขึ้น มีสีแดงรอบๆ ข้อ หากคลำดูจะพบว่าอุ่นกว่าข้อเดียวกันในข้างตรงข้าม ข้อที่อักเสบในช่วงแรก มักเป็นที่ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า หรือข้อเท้า หากทิ้งไว้นาน โดยไม่ได้รับการรักษา อาจมีการอักเสบที่ข้ออื่นได้ด้วย เช่น ข้อเข่า ข้อศอก ข้อมือ เป็นต้น

ด้าน พล.ต.หญิง รศ.พญ.ไพจิตต์ อัศวธนบดี ที่ปรึกษาอาวุโส อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติซั่ม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า

สิ่งที่น่ากลัวของโรคเกาต์ คือ ภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยเกาต์ที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องในระยะแรกจะเข้าสู่ระยะข้ออักเสบเรื้อรังหลายข้อ มีการทำลายข้อเกิดความผิดรูปและพิการ

นอกจากนี้ ยังพบก้อนโทฟายที่ผิวหนัง ซึ่งเกิดจากรวมตัวของผลึกเกลือยูเรต อาจเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะและท้ายที่สุด คือ โรคไตวายเรื้อรัง ที่สำคัญการที่ผู้ป่วยซื้อยารักษาตนเอง อาจแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น มีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร ตับอักเสบ หรือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน

ทั้งนี้นอกจากการไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาแล้ว ผู้ป่วยเกาต์ควรมีความรู้ถึงวิธีการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง รู้จักหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการกำเริบของโรคเกาต์ด้วยค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *