ข้อเข่าถือเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายและเป็นข้อที่รับน้ำหนักของร่างกาย ประกอบไปด้วยกระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกลูกสะบ้า สำหรับอาการ “ข้อเข่าเสื่อม”นับเป็นหนึ่งในโรคที่คนไทยมีแนวโน้มเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี จากเดิมมักพบในผู้สูงอายุ แต่ทุกวันนี้พบผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในอายุที่น้อยลง
“เข่าเสื่อม”
หรือ “โรคข้อเข่าเสื่อม” (Gonarthrosis) คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมหรือสึกกร่อนของกระดูกข้อเข่าทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง การทำงานของกระดูกข้อต่อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อโดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสื่อมมีทั้งเสื่อมตามวัย น้ำหนักที่เกินมาตรฐาน เคยบาดเจ็บบริเวณข้อเข่ามาก่อน ติดนิสัยใช้ท่าทางบางอย่างที่ต้องงอเข่ามากเกินไปหรือใช้งานหนัก ทำให้เกิดการเสียดสี และถลอกของผิวกระดูก เมื่อไม่มีผิวกระดูกอ่อนมาห่อหุ้ม เนื้อกระดูกที่มาชนกันขณะรับน้ำหนัก จนทำให้เกิดอาการเจ็บปวด และเดินลำบาก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจมีความเสื่อมรุนแรงขึ้นอีก
อาการของข้อเข่าเสื่อมเริ่มต้นจะรู้สึกติดๆ ตึงๆ หากเป็นมากขึ้นจะมีอาการปวด โดยมักปวดหลังจากใช้เข่านาน เช่น เดินนานๆ ขึ้นลงบันไดเยอะ มีอาการเข่าบวม เข่าผิดรูปเข่าไม่มั่นคง ไม่สามารถนั่ง ยืน เดินได้นาน ไม่สามารถพับข้อเข่าเพื่อการนั่งเตี้ยๆ หรือนั่งยองๆหากเป็นมากขึ้นอาการปวดจะรุนแรงเพิ่มขึ้น ถี่ขึ้น จนบางครั้งแค่ขยับก็ปวดแล้วไม่จำเป็นต้องไปยืนหรือไปเดินนานๆหรือมีอาการปวดขณะนอนด้วย
เคล็ดลับเพื่อช่วยชะลอให้เข่าเสื่อมช้าลง
- ปรับปรุงการใช้ข้อเข่าที่จะมีผลกระทบ โดยหลีกเลี่ยงการงอเข่าเป็นมุมแหลม เช่น นั่งกับพื้น นั่งยองๆ ขึ้น-ลงบันได, หาวิธีช่วยพยุงเข่า และช่วยลดน้ำหนักตัวที่ลงมาที่เข่า เช่น การใช้ไม้เท้า
- ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐานไม่ปล่อยให้อ้วน
- ไม่ปล่อยขาที่โก่งในช่วงที่อายุน้อยไว้โดยไม่ทำการรักษาหรือหากมีโรคข้อเข่าอักเสบ ก็อย่าทิ้งไว้ ควรต้องรักษาให้หายอักเสบโดยเร็ว
- ฝึกกล้ามมัดหลักของต้นขาเพื่อช่วยพยุงตัวและลดแรงที่มากระทำต่อเข่า โดยการเหยียดขากระดกข้อเท้าและเกร็งไว้ ซึ่งจะทำให้รู้สึกเกร็งบริเวณต้นขา การฝึกดังกล่าวก็จะช่วยให้ลดภาวะโรคข้อเข่าเสื่อมได้ด้วย
หากต้องการออกกำลังกาย ควรเน้นการออกกำลังกายที่มีผลกระทบต่อข้อเข่าน้อย เช่น การเดินเบาๆ การปั่นจักรยาน หรือการว่ายน้ำ