แม้ “โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร” จะพบได้ไม่บ่อยนักในคนไทย แต่ก็เป็นโรคที่ไม่ควรมองข้าม เพราะมะเร็งกระเพาะอาหารสามารถสามารถกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ลำไส้ ปอด รังไข่ รวมถึงต่อมน้ำเหลืองได้ ฉะนั้นผู้มีปัญหาเกี่ยวกับท้องไส้บ่อยๆ ต้องระวัง โดยเฉพาะผู้มีอาการกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
ข้อมูลจาก นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ สรุปความได้ว่า
โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารแบ่งจำนวนมากขึ้นผิดปกติ การละเลยไม่ใส่ใจสุขภาพ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ปวดท้องบ่อยๆ ป่วยด้วย โรคกระเพาะอักเสบเรื้อรัง มีความเสี่ยง สถิติพบเพศชายป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าเพศหญิง
ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากอายุที่มากขึ้น พันธุกรรมของครอบครัว พ่อแม่พี่น้องสายตรงป่วยเป็นมะเร็งชนิดนี้ เป็นโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรังหรือแผลในกระเพาะอาหารติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบกเทอร์ไพโลรี (Helicobacterpylori) ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นประจำ กินอาหารประเภทหมักดอง ตากเค็ม ปิ้งย่าง รมควัน ไม่ค่อยรับประทานผักผลไม้ ภาวะอ้วน และมีประวัติผ่าตัดกระเพาะอาหารมานานกว่า 20 ปี
ระยะเริ่มแรกของโรคจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ทราบเมื่อระยะของโรคลุกลามแล้ว อาการคล้ายโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย จุกเสียดแน่นท้อง ใต้ลิ้นปี่ มีคลื่นไส้ อาเจียนหรืออาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลำพบก้อนต่อมน้ำเหลืองที่แอ่ง ไหปลาร้าซ้าย อาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ดีซ่านตาเหลือง ปวดท้องอาเจียน เนื่องจากก้อนมะเร็งอุดตันที่สำไส้เล็กส่วนต้น หายใจหอบเหนื่อยจากมะเร็งลุกลามไปที่ปอด
การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากมะเร็งกระเพาะอาหาร
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยและมีวิตามินสูง เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า บรอคโคลี่
- ลดและหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน อาหารหมักดอง ปิ้งย่างรมควัน
- ลดและหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงในร่างกายเสมอ หากพบอาการผิดปกติและมีภาวะความเสี่ยงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยนะคะ