“โรคคุดทะราด”
หรือ Yaws/ Frambesia เป็นโรคติดต่อเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ พบมากในประเทศเขตร้อน ที่มีภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ดี มีสาเหตุเกิดจากเชื้อ Treponema สามารถแพร่กระจายได้ง่ายด้วยการสัมผัสกับน้ำเหลืองของผู้ป่วยในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ที่สำคัญคือ เป็นโรคติดต่อที่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้
โรคเกิดจากเชื้อทรีโพนีมา เพอร์ทีนู (Treponemapertenue) พวกสไปโรซิสสามารถแพร่กระจายได้ง่ายด้วยการสัมผัสกับน้ำเหลืองของผู้ป่วยในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เนื่องจากในระยะที่สามนั้นจะเป็นระยะที่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ นอกจากนี้ยังสามารถติดเชื้อได้จากการโดนวัสดุต่างๆ ทิ่ม หรือตำ รวมถึงหากแมลงวันที่สัมผัสกับแผลเปิดของผู้ป่วยมาเกาะบริเวณแผลของผู้ที่ติดเชื้อก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน เชื้อโรคคุดทะราดจะมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน โดยทั่วไป 3-6 สัปดาห์ และสามารถติดต่อได้ตราบเท่าที่มีเชื้อโรคในบาดแผล
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ผิวหนัง จะเกิดเป็นตุ่มเล็กๆ คล้ายหูด ต่อมาจะโตขึ้น ลักษณะคล้ายดอกกระหล่ำปลี (แผลจุดแรกอาจปรากฏตรงส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ส่วนมากพบที่ขาหรือเท้า แผลจะมีสะเก็ดสีเหลืองปิด ไม่ปวด นอกจากใช้นิ้วกดแรงๆ แผลจะเป็นอยู่หลายเดือน) ต่อมน้ำเหลืองจะมีการอักเสบและบวมโต ในระยะแรกจะมีไข้ เบื่ออาหาร ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ อาจรู้สึกปวดตามกระดูกและไขข้อหากตรวจเลือดจะพบว่าผิดปกติ (Wasserman Positive) ซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่ค่อนข้างแน่นอน
แผลคุดทะราดพบได้ทั่วร่างกาย อาจพบที่ฝ่ามือ และฝ่าเท้า แผลกินลึกเข้าไปลุกลามถึงกระดูก ทำให้กระดูกกุดสั้น คล้ายโรคเรื้อน แต่จะไม่เกิดอาการกับประสาทส่วนกลาง ตา หลอดโลหิต และอวัยวะภายในอื่นๆ เหมือนเชื้อโรคซิฟิลิส
ฉะนั้นหากติดเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาอาการจะเข้าสู่ระยะหลังๆ และทำให้เกิดความพิการได้
เพื่อเป็นการป้องกัน “โรคคุดทะราด” ควรรักษาร่างกายให้สะอาด และทำความสะอาดบาดแผลอย่างดี, ทำลายเชื้อโรคโดยต้มภาชนะเครื่องใช้ หรือแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อหรือเผาสำลีและผ้าพันแผลที่เปรอะเปื้อนน้ำเลือด น้ำหนองรวมถึงหมั่นดูแลรักษาสุขภาพ และไม่ใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มร่วมกับผู้ป่วย