โรคพิษสุนัขบ้า นับเป็นอีกหนึ่งโรคสำคัญที่ไม่ควรปล่อยผ่าน โดยโรคนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปี สามารถติดต่อได้จากสัตว์ใกล้ตัว อาทิ สุนัข แมว และมีความรุนแรงถึงชีวิต กล่าวคือ ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตเกือบทุกราย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียารักษา อย่างไรก็ตาม โรคพิษสุนัขบ้าป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน
สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 18 กันยายน 2565 พบผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่จังหวัดชลบุรี และผู้ป่วยอีก 1 ราย ที่จังหวัดสงขลา โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 1 มีประวัติโดนสุนัขที่รับมาเลี้ยงข่วน และไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันแต่อย่างใด ส่วนผู้ป่วยรายที่ 2 ถูกสุนัขไม่มีเจ้าของกัดที่บริเวณมือข้างซ้าย มีเลือดออก หลังจากที่ทำความสะอาดบาดแผลแล้ว ไม่ยอมเข้าพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหลังจากสุนัขตาย ไม่มีการส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ขณะนี้ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลและใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่
จะเห็นได้ว่าปัจจัยเสี่ยงของการพบโรคพิษสุนัขบ้าคือการถูกสัตว์กัด/ ข่วน โดยไม่ได้เข้ารับวัคซีนป้องกันโรค และสุนัขยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่เชื้อ ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือเลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ สัตว์ที่พบบ่อยที่สุดคือ สุนัข แมว และวัว
ผู้ที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ อาการเริ่มแรกจะมีไข้ต่ำ ๆ ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบ ๆ ร้อน ๆ แล้วลามไปส่วนอื่น บางคนคันมากจนกลายเป็นแผลอักเสบ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมากระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม พูดเพ้อเจ้อ กระวนกระวาย หนาวสั่น ตามักเบิกโพลงบ่อย ๆ บางครั้งเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคทางจิต มีอาการกลืนลำบาก น้ำลายไหล กล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด
วิธีการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
1. นำสุนัข แมว ที่อายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และฉีดกระตุ้นทุกปี ในต่างจังหวัดสามารถรับการฉีดที่หน่วยบริการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าฟรีในพื้นที่ และในพื้นที่กทม. มีบริการที่ศูนย์บริการฉีดวัคซีน 8 แห่ง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
2. ระมัดระวังตนเอง ครอบครัว และบุตรหลานอย่าให้สัตว์กัดข่วนเลีย หลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัขหรือแมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อพิษสุนัขบ้า
3. หากถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือแค่ข่วนก็ตาม ให้รีบล้างแผลทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่หลาย ๆ ครั้ง เพื่อล้างเชื้อออกจากแผลให้ได้มากและเร็วที่สุด จากนั้นเช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและรีบไปสถานพยาบาลเพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด หากพบสัตว์สงสัยโรคพิษสุนัขบ้าให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อสังเกตอาการและกักโรค
หากถูกสุนัขหรือแมวกัด/ ข่วน ถึงแม้ว่าแผลจะเล็กน้อยหรือจะเพิ่งฉีดวัคซีนโควิด 19 มา หรือมีนัดฉีดวัคซีนโควิด 19 ก็ตาม ก็สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ทันที ไม่ต้องรอทิ้งช่วงเวลา โดยต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบชุด และตรงตามนัดจึงจะได้ผล การฉีดวัคซีนจะป้องกันการเสียชีวิตได้ แต่หากติดเชื้อพิษสุนัขบ้าและปล่อยทิ้งไว้ จนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาทจนแสดงอาการป่วย ยาหรือวัคซีนจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย
ย้ำอีกครั้ง หากถูกสุนัข หรือแมว กัด ข่วน ให้รีบปฐมพยาบาลโดยล้างแผลด้วยน้ำสะอาดฟอกสบู่หลาย ๆ ครั้ง เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด