อาการบ้านหมุน เป็นปัญหาสุขภาพที่สร้างความรำคาญและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ที่น่ากลัวคือหลายคนที่มีอาการมักปล่อยผ่านเพราะคิดว่าเดี๋ยวก็หาย แท้จริงแล้วอาการนี้มีสาเหตุจากหลายโรคที่ซับซ้อน การตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สาเหตุของอาการบ้านหมุนมักเกิดจากสาเหตุของหูชั้นใน ถ้ามีอาการเวียนศีรษะรุนแรงผู้ป่วยมักจะไม่สามารถเคลื่อนไหวศีรษะได้หรืออาการ ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ หรือมีเสียงดังใน เช่น น้ำในหูไม่เท่ากัน หรือหินปูนในหูหลุด คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า อาการบ้านหมุนเกิดจากน้ำในหูไม่เท่ากัน สำหรับรายที่มีอาการเวียนศีรษะและอาเจียนมาก ๆ จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ความดันในเลือดต่ำและอาจเกิดภาวะช็อก ทำให้เกิดอันตรายได้
อาการที่พบได้บ่อย คือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ทรงตัวลำบาก บ้านหมุนคล้ายกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน หรือ รู้สึกว่าตัวเองหมุนทั้งที่ไม่มีการเคลื่อนไหว อาจมีอาการทางหูร่วมด้วย เช่น หูอื้อ มีเสียงในหู เป็นต้น หากสงสัยว่าตนเองมีความผิดปกติ รู้สึกเวียนศีรษะ บ้านหมุนโดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือมีประวัติโรคหู ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ มีหลายโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้ อาทิ โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน หรือโรคเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า, โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติหรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน, การอักเสบของหูชั้นใน, โรคเนื้องอกของประสาทการทรงตัวหรือเส้นประสาทการได้ยิน, โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ, กระดูกกะโหลกแตกหัก, เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ดังนั้น การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง จึงมีความสำคัญกับผู้ป่วย เพราะถ้าได้รับการรักษาในระยะแรก จะได้ผลดีกว่าการรักษาในระยะหลัง
วิธีลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน
- หลีกเลี่ยงการหันศีรษะไวๆ
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว
- หลีกเลี่ยงการก้ม เงยคอนาน ๆ
- ทำจิตใจให้แจ่มใสไม่เครียด ลดความวิตกกังวล
- ควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบหมวดหมู่
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการอดนอน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ เมื่อมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ควรหยุดนั่งพัก เพื่อป้องกันการหกล้ม กรณีที่มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุนมาก ๆ ควรนอนพักสักครู่ จนอาการดีขึ้นหรือนั่งพัก หลับตา และรีบไปพบแพทย์