แม้จะไม่ใช่โรคที่มีอันตรายร้ายแรงใดๆ แต่ “กลาก” ก็ยังเป็นโรคที่หลายคนผวา เพราะหากเกิดรอยโรคขึ้นบนผิวหนัง ก็ย่อมส่งผลต่อความสวยงามของรูปลักษณ์ นอกจากนี้หากเกิดอาการคันอันเนื่องมาจากโรคกลาก อาจทำให้ต้องล้วง แคะ แกะ เกา ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์รวมถึงบุคลิกภาพ
“กลาก”
เป็นโรคเชื้อราที่ผิวหนัง ซึ่งเกิดจากเชื้อรากลุ่มเดอมาโตไฟต์“กลาก” มีลักษณะเป็นผื่นสีแดง มีขอบเขตชัดเจน มีรูปร่างเป็นวงกลมหรือวงแหวน ถ้าลุกลามขยายออกมากขึ้น จะยิ่งเห็นผื่นรูปวงแหวนมีขอบเขตชัดเจนยิ่งขึ้น อาจจะพบขุย สะเก็ดลอกบางๆ ที่ขอบวงแหวนได้ด้วย
“กลาก” สามารถเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งในร่างกายโดยจะเกิดที่ผิวหนังชั้นนอกสุด เช่น คอ ลำตัว แขนขา ศีรษะ เล็บ ส่วนบริเวณมือ, เท้า,ใบหน้า พบกลากได้เช่นกัน แต่พบน้อยกว่าเกลื้อนผู้ป่วยมักมีอาการคัน ตั้งแต่คันมากถึงคันน้อย
ทั้งนี้ เชื้อกลากสามารถเข้าสู่ผิวหนังได้ 3 วิธีได้แก่ การได้รับเชื้อจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยหรือสัตว์ที่เป็นโรค,การได้รับเชื้อจากการใช้สิ่งของที่มีเชื้อ และการแพร่ของเชื้อจากผิวหนังไปสู่บริเวณอื่นๆ ซึ่งเกิดจากการแกะเกาบริเวณที่เป็นโรค
วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกลาก
- ทาขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อน ติดต่อกันทุกวันประมาณ 3-4 สัปดาห์
- ผู้ที่เป็นๆหายๆ การใช้ยาทาเพียงอย่างเดียวอาจทำให้หายช้า จะต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทานร่วมด้วย ซึ่งการใช้ยาทั้งหมดทั้งมวลจะต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์
- ห้ามใช้ครีมสเตียรอยด์ทารักษาโรคกลาก เพราะอาจจะทำให้โรคลุกลามได้
- ทำความสะอาดของร่างกายด้วยการอาบน้ำฟอกสบู่อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยหลังการอาบน้ำหรือทำกิจกรรมที่เปียกน้ำควรเช็ดตัวให้แห้งทุกครั้ง อย่าปล่อยให้อับชื้น โดยเฉพาะตามรอยพับ และซอกต่างๆระวังอย่าให้มีเหงื่ออับชื้นอยู่เสมอ รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่อับชื้นเป็นเวลานาน
- หมั่นทำความสะอาดเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ที่นอน ผ้าเช็ดตัว หากไม่มีเวลาซัก ก็ควรนำไปตากแดด และไม่ควรใช้สิ่งของเหล่านี้ปะปนกับผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคกลาก
นอกจากนี้ การอาศัยในที่อากาศร้อนและอับชื้น การมีเหงื่อออกมาก การสวมเสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้าที่หนา หรือคับเกินไปการแช่มือและเท้าในน้ำนานๆ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดเชื้อกลากได้ง่ายขึ้น