โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De-Quervain’s tenosynovitis) คือ กลุ่มอาการที่เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้วหัวแม่มือตรงบริเวณข้อมือ (โคนนิ้วหัวแม่มือ) ทำให้เกิดอาการบวม อาการปวด และอาจมีการหนาตัวของเส้นเอ็น
โรคปลอกหุ้มข้อมืออักเสบมักพบได้บ่อยในคนที่ต้องใช้นิ้วหัวแม่มือบ่อยๆ ในท่ากางนิ้วหัวแม่มือออกทางด้านข้างและกระดกขึ้น ใช้ข้อมือเยอะๆ หรือในบางรายอาจพบว่าเคยมีการบาดเจ็บในตำแหน่งนี้มาก่อน เช่น พนักงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือเมาส์ทำงานเป็นเวลานาน แม่บ้านที่ทำความสะอาดบ้านหรือนักกีฬาประเภทแบดมินตัน ปิงปอง วอลเลย์บอล เป็นต้น
โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บและบวมบริเวณข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ บวมบริเวณเอ็นตรงโคนนิ้วหัวแม่มือ อาการอาจจะค่อยเป็นค่อยไป หรืออาจจะเกิดทันที อาการปวดอาจจะร้าวไปข้อศอก หรือมีอาการชาด้านหลังนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ อาการจะปวดมากโดยเฉพาะเวลาหยิบจับสิ่งของ หรือมีการเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือ
การป้องกันของโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ
- หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือ ในท่ากางนิ้วออกหรือกระดกนิ้วขึ้น
- ถ้าปวดมากอาจใช้ผ้ายืดพัน หรือใส่อุปกรณ์พยุงนิ้วหัวแม่มือ
- ประคบด้วยความร้อน หรือใช้ยานวดบรรเทาอาการปวด
- งานบางอย่างต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่อง ทำให้มือเมื่อยล้าหรือระบม ควรพักมือเป็นระยะๆ เช่นทำ 45 นาที ควรจะพักมือสัก 10 นาที
- ถ้ามีอาการข้อฝืด กำไม่ถนัดตอนเช้า ควรแช่น้ำอุ่น และบริหารโดยการขยับข้อมือเบาๆ ในน้ำ จะทำให้ข้อมือเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น
การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด ได้แก่
- การพักการใช้งาน หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้นิ้วหัวแม่มือ
- การใช้เผือกอ่อนดามโคนนิ้วหัวแม่มือ
- ใช้ยาลดอาการปวดและลดการอักเสบ เช่น การใช้ยา NSAID
- การประคบร้อน การประคบเย็น การใช้อัลตร้าซาวน์
- หากไม่ตอบสนองก็ใช้วิธีการฉีดสเตียรอยด์ ส่วนการผ่าตัดจะทำในรายที่อาการปวดไม่ทุเลา การผ่าตัดจะตัดแยกปลอกหุ้มเอ็น