ปวดข้อมือ เจ็บข้อมือ ข้อมือบวม เป็นอาการเจ็บป่วยที่พบได้บ่อยในยุคนี้ ซึ่งมักมีสาเหตุจากการใช้งานข้อมือที่มากเกินไป อาทิ ใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน ๆ ทำงานบ้าน ทำสวน ยกของหนัก เล่นกีฬา เล่นดนตรี หรือแม้แต่การอุ้มลูกหลานนาน ๆ ซึ่งอาการที่ว่านี้อาจเป็นสัญญาณของ “โรคเดอกาแวง”
โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ หรือโรคเดอกาแวง (de Quervain’s Stenosing Tenosynovitis) เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดข้อมือบริเวณฝั่งนิ้วหัวแม่มือ โดยเฉพาะในขณะทำงานที่ต้องกำมือหรือขยับข้อมือ ภาวะนี้พบได้บ่อยในผู้ป่วย อายุประมาณ 30-50 ปี โดยที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็น มากกว่าผู้ชาย ประมาณ 8-10 เท่า ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อมือ บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด โดยมักจะมีอาการในช่วงกลางคืน
สาเหตุที่แท้ของโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่โรคนี้มักเกิดในคนที่ใช้ข้อมือและมือในการทำงานซ้ำ ๆและต้องงอข้อมือมากเป็นเวลานาน ๆ และในท่าที่หักข้อมือในท่าที่ไม่เหมาะสม เกิดจากพังผืดปลอกหุ้มเอ็นถูและเสียดสีกับเยื่อหุ้มเอ็นและเอ็นกระดกข้อมือและนิ้วหัวแม่มือจนอักเสบ โดยกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคเดอกาแวงได้ง่าย ได้แก่
1. กลุ่มคนทำงานเช่น ใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ, แม่บ้าน, คนทำงานบ้าน, คนทำอาหาร, คนทำงานช่าง, คนทำสวนปลูกต้นไม้, คนยกของหนัก
2. กลุ่มกิจกรรมที่ใช้ข้อมือมากๆ เช่น เล่นกีฬาที่ต้องใช้ข้อมือเป็นหลัก, เล่นดนตรี, การอุ้มลูกหลานนาน ๆ, ถักไหมพรมหรืองานอดิเรกอื่นที่ต้องประดิษฐ์ ตอกตะปู ไขสกรู การบิดผ้าจนแห้ง
3. คนอ้วน
4. เพศหญิงพบได้บ่อยกว่าเพศชาย
5. หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ซึ่งฮอร์โมนเพศหญิงมีส่วนสัมพันธ์ทำให้เกิดง่ายขึ้น
6. ผู้ป่วยกลุ่มโรครูมาตอยด์ โรคไทรอยด์ เบาหวาน
โรคนี้สามารถให้การวินิจฉัยจากอาการ ตำแหน่งที่ปวด และจากการตรวจร่างกาย โดย แพทย์อาจใช้การตรวจ ฟินเคิลสไตน์ โดยจะทำการบิดข้อมือ ของผู้ป่วยไปทางด้านนิ้วก้อย ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ จะมีอาการปวดข้อมือฝั่งนิ้วหัวแม่มือมากขึ้น การตรวจวินิจฉัยทางรังสี อื่น ๆ ไม่มีความจำเป็นหากแพทย์ไม่ได้สงสัย ภาวะอื่น ๆ
การรักษาโรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบมีทั้ง การรักษาโดยไม่ผ่าตัด และการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยทั่วไปแพทย์จะเริ่มต้นการรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดก่อน โดยหลีกเลี่ยงการใช้งานข้อมือในท่าซ้ำ ๆ การทำกายภาพบำบัด การประคบอุ่น หรือใส่อุปกรณ์ดามข้อมือและนิ้วโป้ง เพื่อลดการเคลื่อนไหว รับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ ในบางรายที่มีอาการรุนแรง หรือไม่ตอบสนองต่อวิธีข้างต้น แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในปลอกหุ้มเส้นเอ็นเพื่อลดการอักเสบ โดยทั่วไปแนะนำว่าไม่ควรฉีดยาเกิน 2 ครั้ง การรักษาด้วยการผ่าตัด มีจุดประสงค์ที่จะเปิดปลอกหุ้มเอ็นออก เพื่อลดการเบียดรัดเส้นเอ็นภายในปลอกหุ้มเอ็น แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วย รับการรักษาโดยวิธีอื่น แล้วอาการไม่ดีขึ้น
ทั้งนี้ หากมีอาการปวดข้อมือ เจ็บข้อมือ ข้อมือบวม บ่อย ๆ ไม่ควรปล่อยผ่าน การพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและวิธีรักษาอย่างละเอียดเป็นเรื่องจำเป็น จะช่วยให้อาการดีขึ้นและลดความรุนแรงของโรคได้