ทำความรู้จัก “โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก”

0

เรียกว่าเป็นภัยสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก โดยเมื่อไม่นานนี้ มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก พื้นที่ระบาดอยู่ในประเทศแถบยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียกลาง และเอเชียใต้ ว่าแล้วมาทำความรู้จักโรคนี้กันเถอะ

โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก (Crimean-Congo Hemorrhagic Fever: CCHF) พบรายงานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2487 ที่บริเวณแหลมไครเมียน ต่อมาเกิดการระบาดในประเทศคองโก ต่อมาระบาดในคองโก จึงเป็นที่มาของชื่อ “ไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก” สาเหตุเกิดจากเชื้อไนโรไวรัส (Nairovirus) เชื้อดังกล่าวพบในตัวเห็บที่อาศัยอยู่บนตัวสัตว์เท้ากีบ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ เป็นต้น พบระบาดในประเทศในแถบแอฟริกา อเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแถบแปซิฟิกตะวันตก

ไข้เลือดออกไครเมียคองโก เป็นโรคไวรัสที่อันตรายและอาจถึงตายได้ ซึ่งโรคไข้เลือดออกไครเมียคองโกนี้เป็นไวรัสที่มีเห็บเป็นพาหะ องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับโรคนี้อย่างยิ่งและจัดให้เป็น 1 ใน 10 โรคติดเชื้อไวรัสที่มีศักยภาพจะแพร่ระบาดไปทั่วโลก เพราะพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกไครเมีย-คองโกถี่ขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2564-2566

“ไวรัสไนโร” (Nairovirus) ที่มีเห็บเป็นพาหะ อยู่ในวงศ์ของไวรัส “บันยาวิริเด” (Bunyaviridae) มีจีโนมเป็น RNA สายเดี่ยว แบ่งเป็น 3 ท่อน (L, M และ S) แพร่เชื้อโดยเห็บ (Ixodidae และ Argasidae) เป็นหลัก อีกทั้งสามารถแพร่เชื้อตามธรรมชาติระหว่างสัตว์สู่สัตว์ เช่น ในนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก (ค้างคาว หนู ตัวตุ่น และเม่น) และสัตว์เท้ากีบร่วมด้วย บางกรณีมีการติดเชื้อไวรัสไนโรแพร่กระจายไปยังมนุษย์ โดยพบระบาดในผู้คนเลี้ยงสัตว์และพนักงานในโรงฆ่าสัตว์

โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโกติดต่อโดย

1. ถูกเห็บที่มีเชื้อไนโรไวรัสกัด

2. สัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างและทันทีหลังการเชือดสัตว์เพื่อบริโภค

3. สัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของผู้ป่วยไครเมียนคองโก

เมื่อป่วยจะเริ่มด้วยอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง มีภาวะเลือดคั่ง ตาอักเสบบวมแดง อาจมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง เกิดขึ้นบริเวณหน้าอกและท้องแล้วกระจายไปทั่วร่างกาย อาจมีเลือดออกที่บริเวณเหงือก จมูก ปอด มดลูก ทางเดินปัสสาวะ และทางเดินอาหาร อัตราการป่วยตายจะอยู่ที่ ร้อยละ 30-40

แม้จะไม่มีการรักษาเฉพาะ แต่การดูแลแบบประคับประคองสามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตในผู้ป่วยไข้เลือดออกไครเมียคองโกได้ ทั้งนี้ หากพบผู้ติดเชื้อให้แยกผู้ป่วยให้อยู่ในห้องเดี่ยว และควรเป็นห้องความดันลบ ในส่วนของมาตรการป้องกันโรค แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเห็บ ใช้ยาขับไล่แมลง และการรักษาทันทีเมื่อเห็บกัด ส่วนคนงานในโรงงานฆ่าสัตว์ควรสวมถุงมือและชุดป้องกันการสัมผัสกับเลือด หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ติดเชื้อ

ปัจจุบันยังไม่พบรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย หากกลับจากต่างประเทศและสงสัยว่ามีอาการของโรคนี้ ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางและปัจจัยเสี่ยงอย่างละเอียด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *