“ไอ” ถือเป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยระดับความรุนแรงของอาการไอนั้นมีทั้งแค่ไอแบบเบาๆ เล็กน้อยแค่พอสร้างความรำคาญหรือถึงขั้นสร้างความทุกข์ทรมานเลยก็เป็นได้ ในส่วนของอาการไอตอนกลางคืนนั้น หลายคนอาจไม่ทราบว่าสามารถส่อถึงความผิดปกติของสุขภาพได้ด้วยค่ะ
ไอตอนกลางคืนบ่อยๆ บอกโรคอะไรได้บ้าง
1. โรคภูมิแพ้
อาการของโรคภูมิแพ้จะเป็นอาการไอแห้งๆ แบบคันคอ ไอเหมือนมีอะไรบางอย่างข้นเหนียวอยู่ในคอ หรือไอแบบมีเสมหะ มักมีอาการคันจมูก คันคอ จามร่วมด้วย โดยอาการไอมักจะรุนแรงขึ้นในตอนกลางคืน สาเหตุมาจากสิ่งแปลกปลอมที่กระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคืองที่หลอดลมจนเกิดอาการไอ
2. โรคกรดไหลย้อน
จะไอทุกครั้งหลังกินอาหารอิ่มใหม่ๆ หรือขณะล้มตัวลงนอน หรือตื่นนอน โดยอาการไอจะไอหนักๆ เป็นช่วงสั้นๆ ร่วมกับอาการแสบร้อนกลางอกและอาจจะมีเสียงแหบทุกครั้งหลังไอ เนื่องจากกรดในกระเพาะอาหารจะไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหาร ส่งผลให้รู้สึกระคายเคืองคอจนเกิดอาการไอ
3. โรคหอบหืด
มีอาการไอแห้งๆ ติดกันเป็นจังหวะรัวเร็ว ร่วมด้วยอาการหายใจไม่สะดวก โดยมักจะเป็นหนักในตอนกลางคืน มีอาการไอถี่ขึ้น ร่วมกับอาการหอบ เจ็บหน้าอก และรู้สึกเหนื่อยล้ามากเป็นพิเศษหลังจากไอเสร็จ มีสาเหตุอันเนื่องมาจากระบบทางเดินหายใจเกิดอาการอักเสบหรือติดเชื้อ
4. หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
อาการไอจะเริ่มจากไอแห้งๆ บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย ต่อมาอาจไอพร้อมกับมีเสมหะสีขาว หรือใสๆ หรืออาจไอแบบไม่มีเสมหะ เนื่องจากเยื่อบุหลอดลมถูกทำลายจนเกิดอาการอักเสบ ส่งผลให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้เกิดอาการไอหนักๆ ตอนกลางคืนหรือไอหลังตื่นนอนตอนเช้า
5. ไซนัสอักเสบ
จะมีอาการไอเรื้อรัง และไอมากตอนกลางคืน ชนิดที่ไอรุนแรงจนนอนแทบไม่ได้ สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อที่เยื่อบุจมูก ก่อให้เกิดอาการอักเสบตามมา อาจมีเสมหะข้นเหนียวและเจ็บคอร่วมด้วย
6. ไข้หวัดชนิดติดเชื้อไวรัส
แม้จะหายจากเป็นหวัด แต่บางคงอาจยังมีอาการไอ โดยเฉพาะไอตอนกลางคืน โดยยังไอนานหลายสัปดาห์ สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากไข้หวัด ทำให้มีอาการอักเสบหลงเหลืออยู่
หากมีอาการไอตอนกลางคืนติดต่อกันหลายวัน อย่านิ่งนอนใจหรือมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยนะคะ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและนำไปสู่การรักษาอย่างทันท่วงทีค่ะ