ปวดหลังเรื้อรัง ระวัง “โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด”

0

ปวดหลัง ปวดสะโพก นับเป็นอาการไม่สบายตัวที่คนยุคใหม่ไปจนถึงวัยชรามักประสบพบเจอ หากนาน ๆ เป็นที่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้ามีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดหลังเรื้อรัง หรือปวดสะโพกเรื้อรัง นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของ โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด ที่น่ากลัวคือ โรคนี้รักษาไม่หาย!        

โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด (Ankylosing spondylitis, AS) เป็นโรคหลักในกลุ่มโรคข้อและกระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการแสดงของโรคคล้ายกัน คือ มีการอักเสบของข้อกระดูกสันหลัง ข้อต่อตามร่างกาย การอักเสบที่กระดูกบริเวณที่เส้นเอ็นยึดเกาะ การอักเสบของม่านตาและลำไส้ ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลังส่วนล่าง หรือปวดสะโพกเรื้อรังโดยเฉพาะช่วงเช้าหรือหลังพักผ่อน อาการหลังติดยึดทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ทำงานไม่ได้ จนเกิดภาวะหลังคด ทรงตัวลำบากและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

สรุปอาการของข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด ได้แก่

-ปวดหลังหรือหลังติดขัดเรื้อรังเกิน 3 เดือนขึ้นไป ไม่มีประวัติได้รับอุบัติเหตุหลังหรือกล้ามเนื้อหลังทำงานมากกว่าปกติ

-ปวดหลังหรือหลังตึงขัดมากในช่วงกลางคืน ขณะหลับ และหลังตื่นนอนตอนเช้า

-ปวดหลังหรือหลังตึงขัดหลังหยุดเคลื่อนไหวมานาน

-ปวดข้อและข้ออักเสบร่วมด้วย มักพบบริเวณส่วนล่าง เช่น สะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า ฯลฯ

-อาการอื่น ๆ นอกจากระบบข้อ เช่น เหนื่อยง่าย ตาแดง ปวดตา แผลที่ปาก ผื่นผิวหนัง เบื่ออาหาร ฯลฯ

ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดได้ แต่คาดว่าโรคนี้อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น พันธุกรรม ตรวจพบโปรตีน HLA-B27 ผู้ป่วยโรคนี้มักมีญาติเป็นโรคเช่นเดียวกัน มักเริ่มแสดงอาการในผู้ป่วยอายุน้อย ระหว่าง 20-30 ปี พบเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาบรรเทาอาการ เพราะหากปล่อยให้อาการรุนแรงมากขึ้น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

ผู้ป่วยโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึดแต่ละรายอาจมีอาการที่แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของโรค ปัจจุบันใช้ Modified New York Criteria โดยให้การวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วยได้ตั้งแต่ระยะแรก และติดตามการเปลี่ยนแปลงผลการรักษาของผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ ติดตามการดำเนินโรคได้อย่างถูกต้อง และปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายโดยอายุรแพทย์ทั่วไป อายุรแพทย์ทางด้านโรคข้อและรูมาติสซั่ม และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู วินิจฉัยโดยการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและแยกโรคร่วมหรือการอักเสบชนิดอื่น ๆ

การรักษาหลัก คือ การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยในการสังเกตตัวเองและเข้าใจตัวโรค ว่ายังไม่มีวิธีป้องกันหรือรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมและชะลอการดำเนินโรคได้ การรักษาจำเป็นต้องให้ยาเพื่อคุมการอักเสบเรื้อรังและอาการปวดแบบต่าง ๆ ควรบริหารร่างกายเพื่อยืดหยุ่นข้อต่อและกล้ามเนื้อ จะช่วยให้เคลื่อนไหวได้สะดวกใกล้เคียงปกติและป้องกันข้อติดยึด

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยได้รับการรักษาในระยะท้ายของโรค การรักษาด้วยยาและกายภาพอาจไม่เพียงพอ ต้องทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขโครงสร้างและมีการดูแลแบบสหวิชาชีพต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *