ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในโรคฮอตฮิตในช่วงหน้าฝน สำหรับโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา ซึ่งมีที่มาจากภาษาสวาฮิลี ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นของทวีปแอฟริกา หมายถึง เจ็บจนตัวงอ สะท้อนให้เห็นถึงอาการของผู้ป่วยที่เจ็บปวดตามข้อ ปวดข้อต่อ (ข้อนิ้ว ข้อเท้า เข่า) ปวดกระดูก ว่าแล้วมาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นกัน
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โรคนี้มีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อกหรือถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อผู้ป่วยถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด ทำให้มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มีผื่นแดงตามตัวแต่ไม่คัน และอาการที่สำคัญคือ ปวดข้อ ปวดกระดูก
ผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายสามารถพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝน และพบได้ในทุกกลุ่มอายุ ต่างจากไข้เลือดออกและหัดเยอรมันที่มักพบในผู้มีอายุน้อยกว่า 15 ปี อาชีพที่พบสูงสุด คือ เกษตรกรรม ทั้งนี้ มีการศึกษาพบว่า ความชุกของลูกนํ้ายุงลายที่สูง ลักษณะบ้านเรือนที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มและใกล้ชิดกัน รวมทั้งลักษณะสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ในฤดูฝนและการคมนาคมที่สะดวก จะทำให้การระบาดแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ปัจจุบันโรคไข้ปวดข้อยุงลายนี้ยังไม่มียารักษา แต่เป็นการรักษาตามอาการ ดังนั้น เมื่อมีอาการข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง และขอแจ้งเตือนร้านยา คลินิกห้ามใช้ยากลุ่ม NSAIDS ได้แก่ ยาไดโคลฟีแนค หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า บูฟีแนค (Bufenac), ไดฟีลีน (Difelene), โดซาแนค (Dosanac) หรือโวลทาเรน อีมัลเจล (Voltaren emulgel) เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวดจำพวกเอ็นเสด (NSAIDs) ,ยาแอสไพลิน เป็นต้นเช่น แอสไพริน หรือไอบูโปรเฟน เพราะจะเพิ่มโอกาสให้เลือดออกตามเนื้อเยื่อต่างๆ ได้
ข้อควรปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้ปวดข้อยุงลาย คือการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนกางมุ้งแม้ในเวลากลางวัน หรือใช้มุ้งชุบสารเคมี ทายาป้องกันยุงที่มีประสิทธิภาพ ใช้ยาจุดกันยุง ใช้เครื่องไล่ยุงไฟฟ้า ใช้ไม้ตียุง สวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดเมื่อไปอยู่ในจุดเสี่ยงที่มียุงชุม นอกจากนี้ แนะนำให้ยึดหลัก “3 เก็บป้องกัน 3 โรค” ดังนี้
1. เก็บบ้าน ให้สะอาด เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
2. เก็บขยะ บริเวณรอบบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภคต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ขัดขอบผิวภาชนะเหนือผิวน้ำที่อาจมีไข่ยุง เพื่อไม่ให้ยุงมาวางไข่ในน้ำ
สำหรับครอบครัวที่มีผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายอยู่ในบ้าน ต้องให้ผู้ป่วยนอนในมุ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายไปกัดและแพร่เชื้อได้ ซึ่งเชื้อโรคนี้จะแพร่ขณะที่มีไข้สูง (ในระยะ 2-3 วันหลังเริ่มป่วย)
การหมั่นสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงไปพร้อม ๆ กันเพื่อกำจัดยุงลายให้หมดสิ้นไปจากบ้าน นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไข้ปวดข้อยุงลายแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้อีกด้วย