“ภาวะสมองเสื่อม” เป็นกลุ่มอาการซึ่งเกิดมาจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง มีการสูญเสียหน้าที่ของสมองหลายด้านพร้อม ๆ กันแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เกิดขึ้นอย่างถาวร ส่งผลให้มีการเสื่อมของความจำและการใช้ความคิดด้านต่าง ๆ ของบุคคลลดลง ว่าแล้วเรามาสังเกตอาการเตือนของโรคนี้กันค่ะ
ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะสูญเสียความสามารถในการแก้ไขปัญหาหรือการควบคุมตนเอง มีพฤติกรรมแปลก ๆ บุคลิกภาพเปลี่ยนไป มีความผิดปกติในการใช้ภาษา การคำนวณ ความคิดริเริ่ม ความเข้าใจ และส่งผลกระทบต่อการทำงาน รวมถึงการดำรงชีวิตประจำวัน จนในที่สุดผู้ป่วยหลายคนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
คู่มือส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและป้องกันภาวะสมองเสื่อมสำหรับประชาชน “ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย” ได้ระบุถึงอาการเตือนภาวะสมองเสื่อม 10 ประการ ว่ามีลักษณะดังนี้
- สูญเสียความจำโดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น (หลงลืม) เช่น ลืมชนิดของอาหารที่เพิ่งรับประทานไปและเมื่อลืมแล้วไม่สามารถระลึกได้ ซึ่งคนปกติจะสามารถระลึกได้ภายหลัง
- ทำกิจวัตรประจำวันที่คุ้นเคยด้วยความยาก เช่น ลืมวิธีหรือขั้นตอนการทำอาหาร ลืมวิธีการแต่งตัว
- มีปัญหาในการใช้ภาษา เช่น ลืมคำศัพท์ง่าย ๆ ใช้ศัพท์ผิดความหมาย พูดคำผิด ทำให้สื่อสารกับผู้อื่นลำบาก
- สับสนวันเวลาและสถานที่ เช่น หลงวันเวลา บอกสถานที่บ้านที่อยู่ไม่ได้ หลงทางกลับบ้านตนเองไม่ถูก
- ตัดสินใจไม่เหมาะสม (การตัดสินใจแย่ลง) เช่น เปิดพัดลมแรง ทั้งที่รู้สึกเย็นและอากาศเย็นมาก ใช้จ่ายเงินแบบไม่สมเหตุสมผล
- มีปัญหาเกี่ยวกับความคิดรอบยอด (มีปัญหาในการคิดแบบนามธรรม) เช่น ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข รวมถึงเครื่องหมายและวิธีคำนวณง่าย ๆ
- เก็บสิ่งของผิดที่ (วางของผิดที่) เช่น เก็บเตารีดในตู้เย็น เก็บนาฬิกาข้อมือไว้ในโถน้ำตาล
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย (มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป) เช่น จากนั่งสงบเปลี่ยนมาเป็นร้องไห้และเปลี่ยนเป็นโมโหภายในไม่กี่นาที
- บุคลิกภาพเดิมเปลี่ยนแปลง (บุคลิกเปลี่ยน) เช่น กลายเป็นคนช่างสงสัย หรือหวาดกลัวง่ายกว่าเดิมมาก
- ชอบเก็บตัว ขาดความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต (ขาดความคิดริเริ่ม) เช่น นั่งหรือนอนทั้งวันไม่อยากออกไปไหน ไม่อยากเจอผู้คน
หากสงสัยว่าตนเองหรือคนในครอบครัวมีอาการภาวะสมองเสื่อม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาก่อนอาการจะรุนแรงจะยากจะดูแลรักษานะคะ