“โรคกระดูกคอเสื่อม” (Cervical spondylosis) เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้ในปัจจุบันเมื่ออายุมากขึ้น และร่างกายมีการใช้งานมากขึ้น
โดยสาเหตุของโรคเกิดจากกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกสันหลัง ส่วนคอมีการเสื่อมตามอายุ ทำให้ผิวข้อกระดูกสันหลังมีหินปูน หรือปุ่มงอก (osteophyte) ประกอบกับหมอนรองกระดูกมีการเสื่อมและบางตัวลง ทำให้ช่องว่างระหว่างข้อต่อแคบลง ซึ่งใช้เวลานานหลายปีกว่าจะรุนแรงจนถึงขั้นมีการกดถูกรากประสาท หรือไขสันหลัง ทั้งนี้ ผู้ที่เคยมีประวัติบาดเจ็บที่บริเวณคอมาก่อน อาจมีส่วนกระตุ้นให้กระดูกเสื่อมมากขึ้น
อาการเริ่มต้นของหมอนรองกระดูกคอเสื่อมคือจะมีอาการปวดคอและคอแข็งที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ตกหมอน” บางทีก็มีอาการปวดตื้อๆ ลึกๆ ที่บริเวณสะบัก ที่ชาวบ้านเรียกว่า “สะบักจม” อาการทั้งสองอย่างนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าหมอนรองกระดูกคอเริ่มมีอาการเสื่อมตัวแล้ว
ถ้าการเสื่อมตัวของหมอนรองกระดูกคอมากขึ้นก็จะมีการทรุดตัวของหมอนรองกระดูกคอมากขึ้น ทำให้ช่องว่างระหว่างกระดูกคอแคบลง และมีกระดูกงอกตามขอบของข้อต่อกระดูกคอ ที่เรียกว่า “กระดูกงอก” หรือ “หินปูนเกาะ” มีผลทำให้เกิดการตีบแคบของช่องประสาทที่ผ่านลงไป เมื่อตีบแคบถึงระดับหนึ่งก็จะเกิดการกดทับเส้นประสาท และประสาทไขสันหลัง ถ้าเป็นการกดทับเส้นประสาทก็จะทำให้เกิดการปวดร้าวลงไปตามแขนจนถึงนิ้วมือ ถ้ากดมากๆ จะทำให้เกิดอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรง ถ้ามีการกดประสาทไขสันหลังก็จะทำให้เกิดอาการเกร็ง
ข้อแนะนำเพื่อชะลอการเสื่อมตัวของกระดูกคอ ได้แก่
1. หลีกเลี่ยงการบิดหมุนคอหรือสะบัดคอบ่อยๆ
2. การนั่งทำงาน นั่งอ่านหนังสือหรือนั่งเขียนหนังสือควรให้คออยู่ในลักษณะตรงปกติอย่าก้มคอมากเกินไป
3. การนอนควรใช้หมอนหนุนศีรษะโดยมีส่วนรองรับใต้คอให้กระดูกคออยู่ในลักษณะปกติ
4. บริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงสม่ำเสมอ
5. หลีกเลี่ยงการทำงานโดยแหงนคอเป็นเวลานานๆบ่อยๆ
6. หลีกเลี่ยงการรักษาโดยวิธีการดัดคอหรือบิดหมุนคอ