ติดโผหนึ่งในโรคทางเส้นประสาทที่คนไทยป่วยกันมากขึ้น สำหรับ “โรครากประสาทคอ” โดยโรคนี้เกิดจากการถูกกดเบียด หรือการอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวตามรากประสาท เช่น ปวดต้นคอร้าวไปที่สะบัก ไหล่ ชาแขน กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจมีการรับความรู้สึกสัมผัสเพี้ยนจากการที่เลือดไปเลี้ยงรากประสาทลดลง
อาการปวดที่เกิดจากการระคายเคืองหรือความผิดปกติของรากประสาทส่วนคอ มีลักษณะปวดคอร้าวไปตามสะบัก ไหล่ ต้นแขน ปลายแขน และมือ ตามแนวผิวหนังที่เลี้ยงด้วยรากประสาทเส้นนั้นๆ โดยโรครากประสาทคอ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในช่วงอายุ 50-55 ปี พบมากที่รากประสาทระดับคอเส้นที่ 5, 6, 7 และ 8 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเพียงระดับเดียว แต่อาจมีส่วนน้อยบางรายที่มีอาการมากกว่า 1 ระดับ
โรครากประสาทคอ (Cervical radiculopathy) มีหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบบ่อย คือ กระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม เพราะการเปลี่ยนแปลงของกระดูกในภาวะกระดูกสันหลังเสื่อม อาจส่งผลให้รากประสาทถูกกดเบียดจากหมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้น, ปุ่มกระดูกงอก และ/หรือเอ็นกระดูกสันหลังหนาตัวหรือมีหินปูนมาเกาะ
ภาวะเหล่านี้ส่งผลให้ช่องทางออกของรากประสาทตีบแคบ เลือดไปเลี้ยงรากประสาทลด ลง และร่างกายหลั่งสารตัวกลางในกระบวนการอักเสบ อาการปวดรากประสาทจึงเกิดจากการถูกกดเบียดและการอักเสบ ซึ่งตำแหน่งที่รากประสาทถูกกดจะมีขนาดเล็กลง แต่ส่วนปลายจากตำแหน่งที่ถูกกดจะบวมขึ้น และเมื่อระยะเวลานานขึ้นจะเกิดพังผืดในรากประสาท
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมีหลายปัจจัย เช่น อายุ พันธุกรรม การขาดสารอาหาร และปัจ จัยสิ่งแวดล้อม เช่น สูบบุหรี่/สารนิโคตินในบุหรี่ ลักษณะอาชีพ/การงาน โรคเบา หวาน ประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ และปัจจัยจากสารตัวกลางในกระบวนการอักเสบหลายๆ ชนิด ส่วนการป้องกันนั้นทำได้โดยหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่คอ เช่น การเคลื่อนไหวที่รุนแรงบริเวณคอ หลีกเลี่ยงกิจกรรม หรือกีฬาที่มีการปะทะรุนแรง รวมไปถึงระวังอุบัติเหตุจากการขับยานพาหนะ เป็นต้น
การดูแลตนเองเบื้องต้น ควรทำเฉพาะกรณีมีเฉพาะอาการปวดร้าว และหรือมีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน หรืออาการชาเพียงเล็กน้อย ประกอบด้วย การกินยาแก้ปวด ยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ หลีกเลี่ยงการก้มคอ เงยคอ หรือหันคอ เต็มที่ การใส่ปลอกคออ่อนช่วยลดอาการปวดร้าวจากการจำกัดการเคลื่อนไหวคอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก มีโอกาสทุเลาจากอาการปวดร้าวด้วยวิธีการดังกล่าวค่อนข้างสูง แต่หากอาการปวดร้าวไม่ทุเลาภายใน 8 สัปดาห์ มีอาการชา และ/หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วยนอกเหนือจากอาการปวดร้าว รวมถึงอาการต่างๆ แย่ลงควรรีบไปพบแพทย์