แม้ลมเย็นที่เริ่มเข้ามาแบบเบาๆ ในบ้านเราช่วงนี้จะทำให้หลายคนฟินพร้อมทั้งมโนไปไกลว่าหน้าหนาวปีนี้คงได้หนาวสมชื่อ ไม่ใช่ร้อนตับแลบอย่างปีที่ผ่านๆ มา แต่อย่าเพิ่งดี๊ด๊าจนลืมดูแลตัวเอง เพราะของแถมอย่างหนึ่งที่ชอบมาพร้อมกับลมหนาวนั้นหนีไม่พ้นบรรดาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และหนึ่งในนั้นก็คือ “โรคหลอดลมอักเสบ”
โรคหลอดลมอักเสบ (bronchitis)
เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งเป็นท่อที่นำลมหรืออากาศที่หายใจเข้าสู่ปอด ทำให้เยื่อบุหลอดลมบวม มีเสมหะในหลอดลม สรุปคร่าวๆ คือ เมื่อคุณเป็นหวัดจะเริ่มด้วยอาการครั่นเนื้อครั่นตัว น้ำมูกไหล แสบคอ เมื่อโรคดำเนินต่อไป คุณจะรู้สึกแน่นหน้าอกมีเสมหะในคอ และคุณเริ่มเกิดอาการไอแสดงว่าคุณเริ่มเป็นโรคหลอดลมอักเสบ หลายคนสับสนระหว่างโรคนี้กับหอบหืดเนื่องจากผู้ป่วยบางรายหลอดลมบวมมากและมีเสมหะมากทำให้เกิดลักษณะเหมือนโรคหอบหืด
อาการทีสำคัญที่สุดของโรคหลอดลมอักเสบ คือ…
“อาการไอ เสมหะมีสีเหลืองหรือเขียว นอกจากนี้จะมีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก อาจหายใจมีเสียงดังหวีดได้ อาจมีอาการเจ็บคอ แสบคอ หรือเจ็บหน้าอกได้ ผู้ป่วยอาจมีไข้ (แต่ไข้มักไม่สูง) รู้สึกครั่นเนื้อ ครั่นตัว”
โรคหลอดลมอักเสบแบ่งเป็น
- โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (acute bronchitis) (มีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์) มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยเกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่มักเป็นตามหลังไข้หวัด ซึ่งไม่ได้รับการรักษา หรือปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ทำให้การติดเชื้อลามลงไปถึงหลอดลม
- โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (chronic bronchitis) (มีอาการเกิน 3 สัปดาห์) อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ หรือสัมผัสกับมลภาวะ หรือสารระคายเคืองเช่นฝุ่น, ควัน หรือสารเคมีที่ระเหยได้โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง นี้ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจทำให้เสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเขียว
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดลมอักเสบ
- สูบบุหรี่หรือคนใกล้ชิดสูบบุหรี่หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนสูบบุหรี่
- ผู้ที่มีโรคประจำที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงเช่น โรคเบาหวาน โรคตับ เป็นต้น
- ผู้ที่มีโรคกรดไหลย้อน
- ผู้ที่ทำงานกับสารระคายเคืองเช่น ฝุ่น สารเคมีฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันตัวจากโรคหลอดลมอักเสบควรเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว