“ภาวะสมองล้า” ปัญหาสุขภาพที่วัยทำงานต้องใส่ใจ

0

สังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยการแข่งขัน การทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา ทำให้บ่อยครั้งที่วัยทำงานต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยมารบกวนทั้งการใช้ชีวิต อาชีพ และการเข้าสังคม หากไม่นับความเจ็บป่วยทางกายยังมีความเจ็บป่วยทางใจ และระบบประสาท โดยเฉพาะปัญหาด้านความจำที่แย่ลงที่ปกติควรพบในวัยชราแต่กลับพบในวัยทำงาน

ภาวะนี้เรียกว่า “ภาวะสมองล้า” (Brain Fog Syndrome/ Brain fog) เป็นกลุ่มอาการที่มักจะประกอบไปด้วยปัญหาด้านความจำระยะสั้นแย่ลง สมาธิถดถอยไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดได้ยาวนานจนมักส่งผลให้ทักษะการทำงานและการวางแผนลดลง เหมือนมีหมอกลงในสมองทำให้สมองตื้อไม่สดใส ภาวะนี้จึงมักพบได้ชัดเจนในวัยทำงาน ซึ่งต้องใช้ทักษะความคิดและความจำค่อนข้างมาก เมื่อสงสัยว่าเกิดภาวะสมองล้า ควรมาพบแพทย์ประเมินหาสาเหตุ

สาเหตุของภาวะสมองล้านี้มีความแตกต่างจากปัญหาความจำในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสาเหตุที่แก้ไขได้ (ต่างจากภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้) เช่น

1. ความเครียด ทำให้การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เกิดอาการมึนงง ความจำแย่ลง

2. ภาวะทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าซึ่งพบมากขึ้นในปัจจุบัน ภาวะซึมเศร้าบ่อยครั้งจะมีอาการเด่นในเรื่องความจำระยะสั้น

3. โรคทางกายหลาย ๆ อย่าง เช่น ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ โรคซีด ภาวะขาดสารอาหาร เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะไมเกรน เป็นต้น

4. การใช้สารเสพติดบางชนิด เช่น ภาวะติดสุรา ยานอนหลับ ยาแก้แพ้ ยาแก้ปวดบางชนิด เป็นต้น

5. นอนดึก นอนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย ขาดเวลาผ่อนคลายและเข้าสังคม

6. คลื่นแม่เหล็ก จากการใช้งานคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บแล็ตมากเกินไป รบกวนการหลั่งสารสื่อประสาทในสมอง

7. ปัจจุบันมีรายงานพบภาวะนี้ ในผู้ป่วยหลังจากหายจากโรคโควิด-19 มากขึ้น จัดเป็นอาการทางระบบประสาทที่พบได้ในกลุ่ม Long COVID syndrome ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

สำหรับผู้ที่สงสัยภาวะนี้สามารถสังเกตอาการได้ด้วยตนเองว่ามีปัญหาความจำสั้น ขาดสมาธิจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการเข้าสังคม รวมถึงเพื่อนและคนใกล้ชิดอาจสังเกตได้จากสภาพการทำงานที่ย่ำแย่เฉียบพลันจากเดิมจนเห็นได้ชัด นอกจากนี้อาจมีสัญญาณเตือนอื่น ๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ที่เคยมีหายไป ขี้หลงขี้ลืม นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน ไม่สดชื่น ฯลฯ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ สาเหตุ และการรักษา

โดยหลักการรักษาภาวะสมองล้าจะเน้นไปที่การแก้ไขสาเหตุ เช่น รักษาโรคทางกายให้ดี งดการใช้ยาและสารเสพติด รักษาอาการซึมเศร้า ผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งการนอนและมีเวลาหยุดพักผ่อน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบหมวดหมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงควบคุมการใช้เทคโนโลยีในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่นานจนเกินไป ควรหยุดพักบ้างเป็นระยะ จะช่วยทั้งรักษาและป้องกันการเกิดภาวะนี้ได้เป็นอย่างดี

Brain Fog Syndrome หากเกิดบ่อยครั้งจะกลายเป็นสาเหตุของโรคมากมาย เช่น โรคกระเพาะ, โรคอ้วน, ประจำเดือนมาไม่ปกติ, โรคเบาหวาน ฯลฯ ดังนั้น หากเกิดภาวะสมองล้า ควรมาพบแพทย์ประเมินหาสาเหตุและวิธีรักษา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *