“เหงือก”…
เป็นอวัยวะสำคัญในช่องปากเพราะทำหน้าที่ห่อหุ้มยึดฟันไว้ในกระดูกขากรรไกร และรองรับแรงในการบดเคี้ยวหากคุณมีสุขภาพช่องปากที่ดีเหงือกจะมีสีชมพู ขอบเรียบ ไม่บวม ไม่มีเลือดออก แต่หากเหงือกมีสีแดง มีลักษณะบวมเล็กน้อย และมีเลือดออกขณะแปรงฟัน ระวังไว้เลย เพราะนั่นคือสัญญาณของโรคเหงือกอักเสบ
“สาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ”
เกิดจากคราบจุลินทรีย์ซึ่งเกิดจากการสะสมของเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ในน้ำลายลงบนตัวฟัน ลักษณะของคราบจุลินทรีย์เป็นคราบสีขาวอ่อนนุ่มหากคราบจุลินทรีย์ถูกทิ้งไว้นานจะเกิดการสะสมแร่ธาตุเกิดเป็นหินน้ำลาย (หินปูน) ซึ่งจะส่งเสริมให้มีการสะสมของคราบจุลินทรีย์มากขึ้น เชื้อโรคที่เกาะบนหินน้ำลายนี้จะผลิตสารพิษทำให้ร่างกายมีการตอบสนองจนเกิดการอักเสบของเหงือกขึ้น
โรคเหงือกอักเสบสามารถเกิดได้กับทุกวัย แต่มักจะพบบ่อยในผู้ใหญ่ ถ้าตรวจพบในช่วงแรกจะสามารถรักษาให้หายขาดได้
อาการที่บ่งบอกว่าคุณควรพบทันตแพทย์ ได้แก่เหงือกแดงหรือเป็นสีม่วง คล้ำ ช้ำ, เหงือกบวมหรือนุ่ม, รู้สึกเจ็บและปวดเวลาสัมผัสเหงือก, มีเลือดออกที่เหงือกระหว่างแปรงฟันหรือขัดฟัน, ฟันดูยาวขึ้นเนื่องจากเหงือกร่นลงไป, เหงือกไม่ติดอยู่กับฟัน, ฟันมีการขยับเขยื่อนเวลาเคี้ยว, มีหนองไหลออกมาจากบริเวณร่องเหงือก, มีกลิ่นปากหรือรสชาติแปลกๆ ในปาก
หากปล่อยให้เหงือกอักเสบไปนานๆ อาการเล็กๆ น้อย ๆ เหล่านี้อาจจะรุนแรงมากขึ้น คือ ฟันจะยื่นยาวมากขึ้น ฟันโยก รู้สึกเจ็บปวดเวลาเคี้ยวอาหาร ที่ร้ายแรงที่สุดคือ กระดูกและเส้นใยที่คอยยึดฟันไว้จะถูกทำลายไปแล้ว และทำให้ฟันโยก ซึ่งจะส่งผลต่อการเคี้ยว ถ้าไม่ได้รับการรักษาแบบทันท่วงที อาจจะต้องถอนฟันหรือต้องทำการรักษาที่ยุ่งยากมากขึ้น
การป้องกันโรคเหงือกอักเสบทำได้โดยการ…
- ทำความสะอาดฟันอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องโดยแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน
- เลือกใช้แปรงที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีความเป็นกรดสูง
- ควรตรวจสุขภาพปากและฟันกับทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน