ขนมเค้ก คุกกี้ ถือเป็นของขวัญที่นิยมมอบให้กันในช่วงเทศกาลปีใหม่ และด้วยรสชาติที่หวาน อร่อย อาจทำให้หลายๆ คนเพลิดเพลินกับการกินขนมหวานเหล่านี้ ซึ่งหากกินมากเกินไป กินติดต่อกันเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายมีการสะสมของน้ำตาล ไขมัน จนนำไปสู่ภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายสู่สารพัดโรค
ความอ้วน เป็นผลมาจากนิสัยการกินอาหารที่ไม่ถูกต้องควบคู่ไปกับการที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อได้รับพลังงานจากอาหารมากกว่าที่ร่างกายนำไปใช้ พลังงานส่วนเกินนี้ก็จะเก็บสะสมในรูปของไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเนื้อเยื่อไขมัน และนำไปสู่โรคอ้วน ซึ่งไขมันสะสมนี้มีอันตรายต่อสุขภาพมาก ถ้ามีไขมันบริเวณหน้าท้องมากกว่าปกติ เรียกว่า อ้วนลงพุง
อ้วนลงพุง หมายถึง ภาวะที่มีไขมันสะสมในช่องท้อง (Intra-abdominal adiposity) หรืออวัยวะในช่องท้อง (Visceral fat) มากเกินควร โดยทั่วไปเมื่อไขมันถูกสะสมมากขึ้นจะถูกนำไปเก็บไว้ในเซลล์ไขมันที่มีอยู่ทั่วร่างกาย ได้แต่ ไขมันในชั้นใต้ผิวหนังที่อยู่รอบอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะในช่องท้องและแผงโอเม็นตั้ม (Omentum)
ดังนั้น เมื่อมีไขมันสะสมในช่องท้องมากๆ จะเห็นหน้าท้องยื่นออกมาชัดเจน ซึ่งคนในกลุ่มนี้น้ำหนักตัวอาจอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมแต่มีการสะสมของไขมันบริเวณรอบเอวเป็นพิเศษ หรือที่เรียกว่า มีพุง ซึ่งกลุ่มคนที่เป็นโรคอ้วน ก็อาจเป็นโรคอ้วนลงพุงร่วมได้ด้วย โดยสามารถประเมินคร่าวๆ ได้จากการวัดรอบพุง และประกอบกับกลุ่มของปัจจัยเสี่ยงระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และระดับไขมันในเลือดสูง
เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะอ้วนลงพุง
เกณฑ์เส้นรอบพุง = ส่วนสูง ÷ 2 = ปกติ
คนที่มีกลุ่มของปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนลงพุง คือ ผู้มีรอบพุงเกินเกณฑ์ข้างต้นร่วมกับความผิดปกติปัจจัยเสี่ยงอีก 2 ใน 4 อย่าง ต่อไปนี้
1. ความดันโลหิตสูง 130/85 มิลลิปรอทขึ้นไป
2. น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารสูง 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
3. ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
4. ระดับไขมัน HDL น้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรสำหรับผู้ชาย หรือน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรสำหรับผู้หญิง
ไขมันช่องท้อง คือ ไขมันที่สะสมในช่องท้องหรือบริเวณพุง ซึ่งอันตรายมากเมื่อเทียบกับไขมันสะสมในบริเวณอื่นของร่างกาย เพราะจะสบายตัวเป็นกรดไขมันอิสระ ส่งผลให้ในกระแสเลือดมีกรดไขมันอิสระเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เป็นสาเหตุทำให้เกิดผลเสียต่อระบบต่างๆ ภายในร่างกาย โดยกรดไขมันชนิดนี้จะไปยับยั้งกระบวนการเผาผลาญของกลูโคสที่กล้ามเนื้อ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ความดันโลหิตสูง และเนื่องจากอยู่ติดกับอวัยวะภายในร่างกาย จึงทำการส่งไขมันไปสะสมตามอวัยวะต่างๆ หรือที่เรียกว่า ไขมันพอกตับ
โรคอ้วนลงพุง เป็นสาเหตุของโรคแทรกซ้อนจำพวกโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น น้ำตาลในเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคอื่น ๆ เช่น กรดไหลย้อน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ก่อให้เกิดปัญหาทางจิตใจ เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และค่าใช้จ่ายจากการรักษาอาการเจ็บป่วย
การบริโภคอาหารอย่างเหมาะสมและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติ เพื่อสุขภาพแข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วนลงพุงและโรคต่างๆ