“โรคหอบหืด” ถือเป็นโรคเรื้อรังที่สร้างความทุกข์แก่ผู้ป่วย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ตั้งแต่อาการหายใจไม่สะดวก จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ยิ่งหน้าฝนยิ่งต้องระวัง เพราะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความชื้นที่ทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย ล้วนกระตุ้นให้เกิดภาวะหอบหืดเฉียบพลัน
ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และระบบหายใจ และประธานชมรมผู้ป่วยโรคหืด โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ให้ข้อมูลว่า…
โรคหอบหืดยังไม่มีการรักษาโรคให้หายขาดได้ เป้าหมายของการรักษาผู้ป่วยที่จับหืดบ่อยจึงเป็นการลดความรุนแรงของโรคด้วยการใช้ยาให้เหมาะสมเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ
อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่มากับหอบหืดคือ ภาวะจับหืดเฉียบพลัน (Acute Asthma Attack) ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน
โดยปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหืดในประเทศไทยประมาณ 1,000 คนต่อปี มีสาเหตุหลักมาจากการที่ผู้ป่วยซึ่งมีภาวะหอบหืดชนิดเฉียบพลันไม่สามารถดูแลตนเองได้ในขณะที่มีอาการ โดยพ่นยาไม่ถูกต้อง พ่นยาช้า หรือเดินทางไปโรงพยาบาลไม่ทัน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะจับหืดเฉียบพลัน
อาจมาจากการใช้ยาไม่สม่ำเสมอ การใช้ยาไม่ถูกต้อง หรือหลอดลมของผู้ป่วยมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยเข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจากอาการของโรคหืดมากกว่าปีละ 1 ล้านครั้ง
หลอดลมของผู้ป่วยโรคหืดไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ เมื่อสัมผัสสิ่งกระตุ้น หลอดลมจึงหดตัวตีบแคบลง ส่งผลให้เกิดอาการหอบ หายใจลำบาก ผู้ป่วยโรคหืดในภาวะปกติจะมีอาการไอในตอนเช้า และตอนกลางคืนมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล โดยทุก 2 ใน 3 รายมักมีโรคภูมิแพ้หูคอจมูกร่วมด้วย แต่ใน ภาวะจับหืดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการไอเป็นชุดๆ หายใจลําบากชัดเจนแม้ขณะพัก หายใจเสียงดังหวีด แน่นหน้าอก หายใจหน้าอกบุ๋ม
สำหรับภาวะจับหืดเฉียบพลัน ในรายที่รุนแรงมากอาจไม่สามารถพูดเป็นประโยคปกติได้ พูดได้เป็นคําๆ หรือวลีสั้นๆ เท่านั้น มีการใช้กล้ามเนื้อช่วยหายใจมากขึ้น ความรู้สึกตัวลดลง ซึมลงหรือสับสน หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้เนื่องจากสมองและอวัยวะสำคัญขาดออกซิเจน
เราไม่สามารถรู้ได้ว่าอาการหอบหืดแบบเฉียบพลันจะเกิดขึ้นตอนไหน ดังนั้น ผู้ป่วยควรเตรียมการเพื่อรับมืออยู่เสมอ เช่น พกยาพ่นบรรเทาอาการไว้ติดตัวเสมอ รวมถึงหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้มีอาการค่ะ