หลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) เป็นหลอดเลือดสำคัญทำหน้าที่ส่งเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับส่วนนี้จึงเป็นเรื่องที่ห้ามปล่อยผ่าน โดย “โรคผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะ” ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน หากได้รับการวินิจฉัยช้า และรับการรักษาไม่ทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้
โรคผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะ (Aortic dissection) สามารถเกิดได้กับทุกส่วนของหลอดเลือดแดงใหญ่ ตั้งแต่ต้นทางที่มีการปริแตกเซาะไปที่ขั้วหัวใจ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองและแขน หลอดเลือดที่เลี้ยงตับและลำไส้ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงไต ไปจนถึงหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงขาทั้งสองข้าง ทำให้มีอาการเกิดขึ้นได้หลายระบบ โรคนี้พบได้บ่อยในเพศชาย อายุ 50-70 ปี แต่สามารถเกิดในกลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปีที่มีโรคของความผิดปกติของผนังหลอดเลือด สาเหตุการปริแตกของผนังหลอดเลือดมักสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ เบาหวาน หรือความผิดปกติของผนังหลอดเลือด จากกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ทำให้ผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง
ผู้ป่วยโรคผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะมักมีอาการอาการเจ็บหน้าอกแบบแปลบอย่างทันทีและรุนแรง สามารถแสดงอาการได้หลายแบบขึ้นกับตำแหน่งตามรอยโรคที่มีการแตกเซาะไป บางครั้งแสดงอาการเจ็บหน้าอกคล้ายโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เหนื่อย มีภาวะหัวใจลัมเหลว อาการอัมพฤกษ์ อัมพาต แขน ขา อ่อนแรง ปวดแขน ขา คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง อาการปวดท้อง คล้ายภาวะมีการอักเสบของอวัยวะภายในช่องท้อง หรือมีภาวะไตวายเฉียบพลันได้ อาการที่พบได้บ่อย คือ เจ็บหน้าอกแบบแปลบทันทีรุนแรง อาจร้าวไปคอ แขน สะบัก หลัง, หน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ, แขน ขา อ่อนแรง ปวดขารุนแรง, ปวดท้องรุนแรง, ช็อก หมดสติ ไม่รู้สึกตัว
เนื่องจากอาการแสดงในผู้ป่วยบางคนที่ไม่ชัดเจนหรือคล้ายอาการของโรคอื่น ส่งผลให้มีการวินิจฉัยล่าช้าได้ อาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเอกซเรย์ปอด หรือการทำการตรวจอัลตราซาวด์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง แต่การตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องแน่ชัดคือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดแดง ซึ่งช่วยในประเมินความรุนแรงผลแทรกซ้อนจากเซาะของหลอดเลือดไปยังตำแหน่งต่าง ๆ และใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนการรักษา หรือผ่าตัดในรายที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด
สำหรับแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของรอยปริแตกของหลอดเลือด ถ้าเกิดที่ตำแหน่งของหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนต้นที่ออกจากขั้วหัวใจ ต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน เนื่องจากมีอัตราการการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้สูงจากเลือดออกภายในร่างกาย หรือการเกิดลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว ร่วมกับกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจากผนังที่แตกเซาะเข้าไปกดเบียดลิ้นหัวใจและกดเบียดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ หรือมีเลือดออกในเยื่อหุ้มหัวใจจนกดการทำงานของหัวใจทำให้หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ ส่วนการปริแตกเซาะในตำแหน่งอื่น ๆ ของหลอดเลือดแดงใหญ่ มีวิธีการรักษาทั้งการผ่าตัด และการรักษาทางยา
ในส่วนของการผ่าตัดเป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูงและมีความซับซ้อน ต้องอาศัยแพทย์ที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญเฉพาะโรค ต้องใช้เลือดปริมาณมาก ใช้เวลาการผ่าตัดนานกว่าการผ่าตัดหัวใจทั่ว ๆ ไปและมีอัตราการเสียชีวิตสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องผ่าตัดในภาวะฉุกเฉินในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตต่ำ เสียเลือดมาก หรือภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดแบบเปิดร่วมกับการใช้วิธีใส่หลอดเลือดเทียมทางสายสวนโดยใช้ห้องผ่าตัดพิเศษ (Hybrid Operating room) ในผู้ป่วยที่เหมาะสมสามารถลดผลแทรกซ้อน และลดระยะเวลาในการผ่าตัดและฟื้นตัวได้
การรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตกเซาะนั้น แพทย์ผู้รักษาจะประเมินว่าจะใช้การรักษาโดยการผ่าตัดหรือการรักษา โดยการใช้ยาขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของโรค