โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรค ALS เป็นอีกหนึ่งอาการผิดปกติที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากเป็นภัยเงียบที่หลายคนมักมองข้าม โดยโรคนี้มักจะค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ จนเราไม่อาจรู้ตัว กระทั่งอาการจะรุนแรงขึ้นจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ การรู้จักโรคเพื่อสังเกตอาการผิดปกติก่อนสายเกินแก้จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรค ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis) เกิดจากการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทในสมองและไขสันหลังที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมีความผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรงลง กลืนลำบาก พูดไม่ชัด กล้ามเนื้อช่วยหายใจอ่อนแรง หายใจลำบาก เชื่อกันว่าสาเหตุของโรคเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม โดยมีประวัติสัมผัสกับโลหะ หรือสารเคมีที่อาจทำให้ประสาทนำคำสั่งทำงานผิดปกติ
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยมักจะเกิดในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 – 60 ปี และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาด การรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการและประคับประคอง เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ทรมานจากอาการเจ็บป่วย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงสามารถเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยอาจเริ่มจากที่มือ เท้า หรือแขน จากนั้นจะค่อย ๆ ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง จะมีอาการ 3 ระยะ
1. ระยะเริ่มต้น
จะรู้สึกว่า มือ เท้า แขนขาอ่อนหรือไม่มีแรง เช่น เดินแล้วล้มบ่อย ยกแขนข้างใดข้างหนึ่งไม่ขึ้น จากนั้นอาการจะเริ่มรุนแรงขึ้นโดยมีอาการกล้ามเนื้อแขนและขาลีบ รับประทานอาหารลำบาก พูดไม่ชัด
2. ระยะที่สอง
อาการจะหนักขึ้นจนลามไปถึงระบบหายใจ ทำกิจวัตรประจำวันได้ลำบากมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีอาการเหนื่อยง่ายจากกล้ามเนื้อช่วยหายใจอ่อนแรง
3. ระยะสุดท้าย
ผู้ป่วยจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องให้อาหารและน้ำทางสายน้ำเกลือ และอาจเสียชีวิตเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว
ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงสามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้แต่ต้องกินยาตามแพทย์สั่ง นอกจากนี้ ผู้ดูแลต้องพยายามให้ผู้ป่วยออกกำลังกายทำกิจกรรม เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อลีบแบน เกิดแผลกดทับและการติดของข้อ พักผ่อนให้เพียงพอหลีกเลี่ยงความร้อน ละความเครียด รับประทานอาหารที่อ่อนนุ่มและไม่ต้องเคี้ยวมาก คนในครอบครัวและญาติต้องให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีความสุข
สำหรับการป้องกันโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้น เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม วิธีที่น่าจะช่วยได้ไม่มากก็น้อยคือ การดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง หากมีอาการเจ็บป่วยควรรีบพบแพทย์ทันที หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักเกินไป ควบคุมความเครียด หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับยาฆ่าแมลงหรือพวกโลหะหนักและรังสีรุนแรง ซึ่งจะกระตุ้นทำให้เซลส์เสื่อมสภาพและตาย หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ หากสงสัยว่าจะเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยป้องกันไม่ให้โรคลุกลามต่อไป รวมถึงเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น