การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายมีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ หากคุณประสบปัญหาการนอนหลับเรื้อรังง่วงนอนตลอดเวลา โดยเฉพาะในตอนกลางวัน หลับได้โดยไม่รู้สึกตัว นี่อาจเป็นสัญญาณของ “โรคลมหลับ”
โรคลมหลับ (Narcolepsy) เป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับที่เกิดขึ้นแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักจะมีอาการง่วงมากในตอนกลางวันแม้ว่าตอนกลางคืนจะนอนหลับสนิทอย่างเพียงพอและบางครั้งพบว่ามีการนอนหลับเกิดขึ้น ในสถานการณ์ไม่เหมาะสม เช่น เกิดขึ้นขณะพูดคุยกับบุคคลอื่น ขณะรับประทานอาหาร ทำงาน เรียน เล่นเกม หรือ ขับรถ อาจเกิดอันตรายได้
สาเหตุของโรคลมหลับ ในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เกิดจากความผิดปกติของสาร สื่อประสาทที่ชื่อ โอเร็กซิน (Orexin) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการตื่นของร่างกาย ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สารเคมีชนิดนี้ลดลง ส่งผลให้มีอาการหลับง่ายกว่าปกติ ฉะนั้น ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการผิดปกติด้านการนอนหลับ ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เนื่องจากหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงได้
อาการแสดงที่สำคัญของโรคลมหลับนอกจากจะมีภาวะง่วงนอนมากผิดปกติตอนกลางวันแล้ว ผู้ป่วยอาจมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ อาการผล็อยหลับทันที มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก ขยับแขนขาไม่ได้ทันที โดยตัวกระตุ้นคือ เมื่อมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง หรือมีเสียงดัง หรือตกใจ อาจเป็นเพียงชั่วครู่ หรือเป็นพัก ๆ หรือนาน ๆ เป็นครั้ง มีภาวะผีอำ (sleep paralysis) โดยที่ไม่สามารถขยับตัวได้ตอนที่กำลังใกล้จะตื่น บางครั้งก็รู้สึกตัว แต่พูดไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่ได้ เป็นเวลานานหลายนาที
อีกหนึ่งอาการแสดงสำคัญของโรคลมหลับ คือ เห็นภาพหลอนตอนขณะเคลิ้มหลับ โดยอาจเห็นเป็นสัตว์ประหลาดหรือสิ่งที่น่ากลัวต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น พฤติกรรมทำอะไรโดยไม่รู้ตัว ขณะหลับอาจทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ (เช่น ขับรถ ทำอาหาร) บางรายมีอาการนอนไม่หลับในเวลากลางคืน ไม่มีสมาธิ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ขี้ลืม ซึมเศร้า
แพทย์วินิจฉัยโรคจากการสอบถามประวัติโรคประจำตัว และยาที่ใช้เป็นประจำ เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกอย่างอื่นที่ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคลมหลับ ในรายที่แพทย์สงสัยอาการเข้าได้กับโรคนี้จะให้ผู้ป่วยบันทึกการนอนอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และส่งตรวจการนอนหลับ (polysomnogram) ร่วมกับการตรวจความง่วงนอน (multiple sleep latency test) ในปัจจุบันแม้ว่ายังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการได้ โดยการใช้ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่เหมือนคนปกติ
ที่น่ากลัวคือ โรคลมหลับจะค่อย ๆ มีอาการรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ หากเริ่มมีอาการง่วงนอนบ่อยผิดปกติในเวลากลางวัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที