มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง ที่น่ากลัวคือ ผู้ป่วยส่วนมากจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาเมื่ออยู่ในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ของโรค ทำให้อาการอาจลุกลามรุนแรงจนยากจะรักษา
มะเร็งปอด เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมากและแพร่กระจายไปตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย โดยในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยมะเร็งปอดรายใหม่ประมาณ 17,222 ราย เป็นเพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,728 ราย หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอด มีดังนี้
• การสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง ผู้สูบบุหรี่อาจมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 เท่า รวมถึงผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่เองโดยตรง แต่สูดดมจากบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบก็มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป
• พันธุกรรม แม้โรคมะเร็งปอดจะไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยตรง แต่พบว่า หากมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งปอดตั้งแต่อายุน้อยๆ สมาชิกในครอบครัวก็มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
• การสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น จากการศึกษาพบว่า ฝุ่น PM2.5 ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้มากถึง 1-1.4 เท่า
ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการแต่มักไม่จำเพาะจึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้า มีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย โดยทั่วไปมะเร็งปอดมีสัญญาณเตือน เช่น อาการไอเรื้อรังมากกว่า 1 เดือน ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่ายมากกว่าปกติ หายใจสั้น หายใจมีเสียงหวีดเจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เป็นต้น
สำหรับการรักษามะเร็งปอดมีวิธีหลัก ๆ ได้แก่ การผ่าตัด การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปการรักษามะเร็งจะใช้มากกว่าหนึ่งวิธีขึ้นไป ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาและผลข้างเคียงของแต่ละวิธี เพื่อให้ความร่วมมือในการรักษาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
ปัจจุบันการคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด แต่เนื่องด้วยมีค่าใช้จ่ายที่สูงจึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าได้ไม่ถึง จึงมีคำแนะนำให้ผู้มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบในแต่ละปีว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัยจะเป็นมะเร็งปอดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การป้องกันมะเร็งปอดด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคลงได้
ทั้งนี้ การสังเกตอาการผิดปกติของตนเองอย่างสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะเป็นส่วนช่วยให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งปอดได้มากขึ้น และหากพบความผิดปกติใด ๆ ในร่างกาย ให้รีบไปพบแพทย์