การดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ อาทิ วิสกี้ บรั่นดี เบียร์ ไวน์ นับเป็นกิจกรรมสุดโปรดของหลายคน อย่างไรก็ตาม คงไม่น่าห่วงหากดื่มปริมาณน้อยและนาน ๆ ทีดื่ม แต่ที่น่ากังวล คือ การดื่มสุราปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ๆ อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ซึ่งอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
สุรา หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกาย จะถูกดูดซึมและกระจายไปทุกส่วนของร่างกายภายในเวลา 5 นาที ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เกิดพิษต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ทำให้สมองเสื่อม ความคิดความจำบกพร่อง เกิดไขมันสะสมในตับ ตับอักเสบ และเกิดภาวะตับแข็งตามมา เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โดยพิษแบบเฉียบพลัน จะทำให้ขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุหรือทะเลาะวิวาทได้
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงแรก จะทำให้ร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่ประมาณ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้ผู้ดื่มเกิดอาการสับสน มากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้เกิดอาการง่วง สับสน ซึม มึนงง และถ้ามากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป อาจทำให้สลบ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงในระดับนี้ สามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ การรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่ม และทำให้เสียชีวิตได้
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษสูงมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้
– การดูดซึมสารในร่างกายของแต่ละบุคคล
– ปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ ในแต่ละชนิดของเครื่องดื่ม
– เพศหญิงจะมีปฏิกิริยาต่อแอลกอฮอล์ได้ไวกว่าผู้ชาย
การดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ในระยะเวลาสั้น ๆ อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งอาจมีสัญญาณบ่งบอกและอาการเตือนภาวะสุราเป็นพิษ เช่น เกิดอาการสับสน พูดไม่ชัดหรือพูดไม่รู้เรื่องอย่างหนัก อาเจียน จังหวะการหายใจผิดปกติหรือหายใจช้าลง ตัวเย็นผิดปกติ ผิวหนังซีดหรือกลายเป็นสีม่วง หมดสติ ไม่รู้สึกตัว หรือรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถตอบสนองการรับรู้ได้ ในกรณีที่ภาวะสุราเป็นพิษรุนแรงอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการโคม่า สมองถูกทำลาย และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
วิธีรับมือเมื่อพบผู้มีภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ
1. รีบโทรแจ้ง 1669 หรือเรียกรถพยาบาล เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน
2. ขณะรอเจ้าหน้าที่ ให้สังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วยตลอดเวลา และให้การดูแลเบื้องต้น โดยการพยายามปลุกให้ตื่นและพยุงให้อยู่ในท่านั่ง ให้ดื่มน้ำเปล่าในกรณีที่สามารถดื่มได้ พยายามทำให้ร่างกายอบอุ่น เช่น ให้สวมเสื้อกันหนาว
3. หากผู้ป่วยเป็นลมหมดสติ ไร้การตอบสนอง ให้จัดนอนในท่านอนตะแคง คอยสังเกตอาการจนกว่ารถพยาบาลจะมารับ
ทั้งนี้ หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติด รวมถึงสุรา สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th