เข้าช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เชื่อว่าหลายคนคงเตรียมโปรแกรมท่องเที่ยวแบบแน่นเอี๊ยดเพื่อชาร์จความสุขเก็บไว้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการโดยสารเครื่องบินก็เป็นวิธีเดินทางยอดฮิตของหลายๆ คนเพราะสะดวกและรวดเร็ว แต่จะอารมณ์เสียแถมส่งผลต่อสุขภาพก็ตรงของแถมที่มาแบบไม่ได้รับเชิญอย่าง “ภาวะเมาอากาศ”
“ภาวะเมาอากาศ” (Air Sickness)
จัดเป็นประเภทหนึ่งของ “ภาวะเมาการเคลื่อนที่” เกิดจากการตอบสนองของร่างกายทางสรีรวิทยา ต่อการเคลื่อนไหว ที่ผิดปรกติ ซึ่งร่างกายไม่เคยเผชิญมาก่อน หรือยังไม่สามารถปรับตัวต่อการเคลื่อนไหวนั้นได้ โดยภาวะนี้สามารถบรรเทาลงได้โดยการจ้องวัตถุที่ไม่เคลื่อนที่
“ภาวะเมาอากาศ” มีอาการ ได้แก่หน้าซีด เหงื่อออก ตัวเย็น กระสับกระส่าย รู้สึกไม่สบาย ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน เป็นลม หมดสติภาวะเมาอากาศเป็นการตอบสนองทางสรีรวิทยาตามปรกติ อาการดังกล่าวจะค่อยๆ ลงจนกระทั่งหายขาด เมื่อเผชิญกับการเคลื่อนไหวนั้นซํ้าขึ้นมาอีก โดยร่างกายจะมีการปรับตัวอาการจะหายไปหลังจากบินแล้ว จนในที่สุดไม่มีอาการ ฉะนั้นภาวะเมาอากาศจึงไม่ถือว่าเป็นโรค ยกเว้นการมีความผิดปรกติของอวัยวะดังกล่าว
ปัจจัยที่ทำให้การปรับตัวเป็นไปได้ช้าหรือปรับตัวไม่ได้เลย มักเกิดจากสาเหตุทางจิตใจเป็นหลัก คือ
ความกลัว ความวิตกกังวล
โดยมีเหตุส่งเสริมได้แก่ อาการล้า, การเมาค้าง, กลิ่นอับ, การเจ็บป่วย, การบริโภคอาหารไม่เหมาะสม (เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำมาก ท้องว่าง), อากาศร้อน, การใช้สายตามาก
การป้องกัน “ภาวะเมาอากาศ” ทำได้โดยรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ ไม่ปล่อยให้ท้องว่าง, เลือกที่นั่งริมหน้าต่าง เนื่องจากการจ้องไปยังพื้นดิน ท้องทะเล หรือเส้นขอบฟ้าอาจช่วยบรรเทาอาการได้
โดยที่นั่งส่วนกลางใกล้ส่วนปีกของเครื่องบินเป็นที่นั่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่มักจะมีภาวะเมาอากาศเนื่องจากมีการสั่นสะเทือนน้อยที่สุด (บริเวณท้ายลำเครื่องโคลงมากที่สุด) ใช้ยาบรรเทาภาวะเมาอากาศที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การใช้ยาเป็นไปอย่างเหมาะสม