จากข้อมูลสถิติสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มะเร็งเต้านม ถือเป็นมะเร็งอันดับ 1 ในผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด โดยโรคนี้ถือเป็นอันตรายคุกคามต่อชีวิต กล่าวคือการปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษา จะทำให้เป็นหนักมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งทำให้เสียชีวิตได้การรักษาโรคมะเร็งเต้านมจะเริ่มต้นด้วยการผ่าตัด มีเพียงส่วนน้อยที่จะไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้
ในรายที่คนไข้ที่มาพบแพทย์ในระยะที่ 4 ซึ่งถือเป็นระยะแพร่กระจายแพทย์จะรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือยาต้านฮอร์โมน หรือคนไข้ที่มาก่อนระยะที่ 4 แต่มีก้อนที่ใหญ่มากบางครั้งแพทย์จะไม่สามารถผ่าตัดได้ แพทย์จะเริ่มให้ยาเคมีบำบัดเพื่อให้ก้อนเล็กลงก่อนและแพทย์จะทำการผ่าตัดในลำดับต่อไป
การผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่…
- ผ่าตัดโดยเก็บเต้านมเอาไว้และตัดทิ้งเฉพาะส่วนก้อนมะเร็งออกทำได้ในคนไข้ที่เป็นระยะเริ่มต้น สามารถเก็บเต้าไว้ได้ เพราะมีก้อนมะเร็งเพียงจุดเดียวและมีขนาดเล็กพอที่จะตัดออกได้หมด แต่การตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออกจะต้องทำร่วมกับการฉายแสงบริเวณเนื้อเต้านมที่เหลือ
- ผ่าตัดเต้าออกทั้งหมด เป็นการตัดเนื้อเยื่อเต้านม รวมถึงส่วนที่มีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าไป
- ผ่าตัดเต้าออกทั้งหมดและเสริมเต้าใหม่ ซึ่งจะช่วยสำหรับคนเลือกผ่าตัดออกทั้งหมด
นอกจากที่จะรักษาให้หายแล้ว เรื่องของความสวยความงามและความเชื่อมั่นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงเราต้องการมากที่สุด โดยการเสริมเต้านม สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
- เสริมโดยใช้ซิลิโคน
- เสริมโดยใช้กล้ามเนื้อในร่างกาย ซึ่งจะมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกันที่จะเลือกใช้ คือ กล้ามเนื้อหลัง ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ข้างหลัง และปกติร่างกายจะไม่ค่อยได้ใช้งานกล้ามเนื้อมัดนี้เท่าใดนัก กับกล้ามเนื้อหน้าท้องร่วมกับไขมันทางหน้าท้อง ซึ่งการผ่าตัดเสริมเต้าสามารถทำได้ทันทีที่ผ่าตัดมะเร็งเต้านมออก
เพื่อป้องกันความเสี่ยง ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเอง โดยการใช้มือคลำเต้านมส่วนผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจเมมโมแกรม อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง