ลดความเสี่ยง “โรคพิษสุนัขบ้า” ด้วยหลัก 3 ป.

0

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี มีความรุนแรงของโรคสูง เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มียารักษา หากป่วยแล้วผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้า เกิดได้ทั้งสุนัข แมว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด สำหรับในประเทศไทยเกิดจากสุนัขเป็นหลัก ไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้แล้วต้องเสียชีวิตทุกราย

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคนชนิดรุนแรงประเภทหนึ่ง สามารถติดต่อมายังคนได้โดยสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิดที่เป็นพาหะ ซึ่งมีเชื้อไวรัสชนิดโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ในน้ำลาย เช่น สุนัข แมว กัด ข่วน หรือเลียบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผล โรคนี้พบได้ตลอดทั้งปี ไม่มีทางรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกรายหากติดเชื้อและมีการแสดงอาการแล้ว สำหรับสถานการณ์ของไทยขณะนี้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้เสียชีวิตในรอบ 4 ปี ที่ผ่านมาลดลงมากเหลือปีละ 3-4 ราย สาเหตุเกิดจากถูกสุนัขกัดและมากกว่าครึ่งเป็นสุนัขที่มีเจ้าของ ที่สำคัญผู้เสียชีวิตทุกรายไม่ได้ไปฉีดวัคซีนหลังจากถูกสัตว์กัดหรือข่วน

อาการของโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มจาก 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อยเนื้อตัว มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผล คันอย่างรุนแรงที่แผลและลำตัว ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก กล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาจชัก อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต

หลัก 3 ป. ห่างไกลโรคพิษสุนัขบ้า

ป.ที่ 1 คือ ป้องกันสัตว์เป็นโรค 

โดยการนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี  ทำหมันสุนัขถาวรเพื่อไม่ให้มีจำนวนมากเกินความต้องการ จะช่วยลดจำนวนประชากรสุนัข และหากพบสัตว์ตายผิดปกติ ขอให้ส่งซากสัตว์ไปตรวจหาเชื้อซึ่งปัจจุบันสามารถส่งได้ทั้งตัวไม่ต้องตัดหัว ผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งตรวจได้ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ในต่างจังหวัดส่งที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ

ป.ที่ 2 คือ ป้องกันการถูกกัด

ไม่ปล่อยสุนัขหรือแมวออกนอกบ้านตามลำพัง หากต้องพาออกไปนอกบ้านให้ใส่สายจูง  นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกัดโดยยึดคาถา 5 ย. คือ 1. อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห โกรธ  2. อย่าเหยียบหาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่าง ๆ ตกใจ 3. อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4. อย่าหยิบชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร 5. อย่ายุ่งหรือเข้าใกล้กับสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ

ป.ที่ 3 ป้องกันหลังถูกกัด

โดยรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่อย่างเบามือนานอย่างน้อย 10 นาที เพื่อกำจัดเชื้อออกไปให้มากที่สุด จากนั้นใส่ยาฆ่าเชื้อที่บาดแผล และกักสุนัขเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขตายให้ส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ควรฉีดให้ครบชุดและตรงตามแพทย์นัด อาจท่องจำง่าย ๆ คือ “ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนให้ครบ” เพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่ป้องกันได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความตระหนักรู้ป้องกันตนเองอย่างถูกต้องหลังจากสัมผัสเชื้อโรค เนื่องจากโรคนี้ไม่ได้ป่วยทันทีหลังถูกสัตว์กัด อาจต้องรอเวลา ถึง 3 เดือน เมื่อแสดงอาการป่วยแล้ว จะไม่มีทางรักษา จะเสียชีวิตทุกราย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็ว

ย้ำอีกครั้ง โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มียารักษา หากป่วยแล้วจะเสียชีวิตทุกราย ไม่อยากเสี่ยงอย่าลืมยึดหลัก 3 ป.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *