“ลิ้นหัวใจ” เป็นโครงสร้างสำคัญของอวัยวะหัวใจ ทำหน้าที่ควบคุมให้เลือดไหลไปทิศทางที่ถูกต้องเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการทำงานของหัวใจเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ สมดุลและมีประสิทธิภาพฉะนั้น เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นกับลิ้นหัวใจจึงนำไปสู่ความเจ็บป่วยที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ผู้ที่มีอาการหอบ เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง หายใจลำบาก หน้ามืดเป็นลมบ่อยๆ อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจ เนื่องจากลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ กรอบ แข็ง ความยืดหยุ่นน้อย และมีไขมันหินปูนเกาะ ทำให้ลิ้นหัวใจเปิดหรือปิดไม่สนิท ส่วนใหญ่ลิ้นที่มีปัญหา คือ Mitral Valve หรือ Aortic Valve ซึ่งเป็นลิ้นหัวใจฝั่งซ้าย ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ
“โรคลิ้นหัวใจ”
โรคที่เกิดจากลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการไหลเวียนโลหิต เกิดปัญหาต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งในรายที่รุนแรง จะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้โดยทั่วไปโรคที่เกิดจากลิ้นหัวใจที่พบบ่อย มี 3 ประเภท คือ…
1. Rheumatic heart disease
หรือ โรคลิ้นหัวใจรูมาติกเกิดจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส กรุ๊ป เอ ทำให้เกิดไข้รูมาติกนำไปสู่การเกิดภูมิต้านทานผิดปกติ ทำลายเนื้อเยื่ออื่นๆ รวมทั้งลิ้นหัวใจด้วย เมื่อถูกทำลายก็จะมีพังพืดและแคลเซียมเกาะ ทำให้ลิ้นหัวใจ เปิดปิดไม่ดีเหมือนปกติ หัวใจจึงต้องทำงานหนักมากขึ้น
2.Degenerative
การที่ลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพตามอายุ ส่วนใหญ่พบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อเสื่อมสภาพตามอายุ ทำให้ลิ้นหัวใจผิดรูปเกิดการเปิดปิดที่ไม่สนิท ซึ่งจะทำให้เกิดอาการลิ้นหัวใจรั่ว อันเนื่องมาจากตัวลิ้นมีการเสื่อมและยืดตัวมาก
3.โรคลิ้นหัวใจจากภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ
เกิดกล้ามเนื้อตาย มีผลต่อการทำงานของลิ้นหัวใจทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว ส่วนใหญ่จะเป็นกับคนอายุ 50-60 ปี
อีกหนึ่งวิธีการป้องกันโรคลิ้นหัวใจที่ได้ผลดี คือ การตรวจเช็คสุขภาพหัวใจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเมื่อพบว่าป่วยจะได้ทำการรักษาโรคแต่เนิ่นๆ รวมถึงชะลอโรคไม่ให้ลิ้นหัวใจเสื่อมเร็วกว่าที่ควร