พักนี้มีข่าวเกี่ยวกับพยาธิมาให้สยองกันเป็นระยะๆ ล่าสุด ทำเอาคนชอบเดินถอดรองเท้าเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติหวาดผวากันถ้วนหน้า กับข่าวคู่รักชาวแคนาดาไปออกทริปชิลๆ ริมหาดในโดมินิกัน แต่ดันได้ของแถมเป็นพยาธิที่ไชเท้า ทำให้เท้าบวมเป่งและเป็นแผลแหวอะหวะ เพื่อป้องกันตัวเรามารู้จักโรคนี้กันค่ะ
ข้อมูลจาก ร.ศ.พ.ญ. กัญญารัตน์ กรัยวิเชียร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผ.ศ.พ.ญ. จิตติมา ฐิตวัฒน์ คณะเวชศาสคร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปความได้ว่า
“โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง”
โรคผิวหนังที่เกิดจากพยาธิตัวกลมระยะตัวอ่อน (โดยมากเป็นพยาธิปากขอหรือพยาธิเส้นด้าย) ของสัตว์ พยาธิระยะตัวอ่อนจะไชไปตามผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ทำให้เกิดผื่นมีลักษณะเป็นเส้นนูนสีแดงคดเคี้ยวใต้ผิวหนังตามทางที่พยาธิไชผ่าน
พยาธิชอนไชผิวเราได้จริง?
เนื่องจากคนไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่พยาธิเจริญเติบโต พยาธิตัวอ่อนจึงเดินทางไปตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังโดยไม่สามารถเจริญเป็นระยะตัวแก่ในร่างกายคนได้ จนในที่สุดพยาธินั้นจะตายไปเอง อาการแสดงทางผิวหนังจะเป็นอยู่นานจนกว่าพยาธิจะถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันหรือได้รับยาฆ่าพยาธิ โรคนี้พบมากในเขตร้อน เช่น ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ เป็นต้น
การติดต่อเป็นอย่างไร?
ในส่วนของการติดต่อของโรคนั้น พยาธิตัวอ่อนระยะติดต่อที่อยู่ที่พื้นดินชื้นแฉะไชเข้าผิวหนังของคนที่เดินเท้าเปล่าหรืออาจจะติดตามตัวทาก หรือเข้าตามผิวหนังของเด็กที่นั่งเล่นตามพื้นดินหรือทราย โดยสามารถไชผ่านเสื้อผ้าบางๆ เช่น ชุดว่ายน้ำได้
ผู้ป่วยจะเกิดผื่นหลังจากตัวอ่อนไชผ่านผิวหนังเข้ามาประมาณ 2- 50 วัน ตอนแรกจะเกิดเป็นตุ่มเล็กๆ สีแดงก่อนเมื่อพยาธิเริ่มเคลื่อนที่โดยการไชจะเห็นผื่นเป็นเส้นนูนสีแดงกว้าง 2-3 มิลลิเมตร คดเคี้ยวไปมาผื่นอาจมีความยาวได้ถึง 15-20 เซ็นติเมตร
ตัวอ่อนของพยาธิเคลื่อนที่ได้วันละ 2-3 มิลลิเมตร จนถึงหลายเซนติเมตร อาจเกิดตุ่มน้ำตามแนวที่พยาธิไชอาจมีผื่นเกิดขึ้นหลายแห่งพร้อมกัน ผื่นมักพบบริเวณที่ผิวหนังที่สัมผัสกับดินโดยตรงคือ มือ เท้า ในเด็กเล็กอาจพบผื่นที่ก้น อาการร่วมที่สำคัญคือต้องมีอาการคันอย่างมาก อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันโรค จึงไม่ควรเดินเท้าเปล่า นั่ง หรือใช้มือสัมผัสดินที่สงสัยว่าปนเปื้อนมูลสัตว์ ส่วนบรรดาทาสแมวทาสน้องหมาต้องถ่ายพยาธิให้แมวและสุนัขเพื่อไม่ให้มีการแพร่ปรสิตสู่ดินค่ะ