“โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา” รุนแรงถึงชีวิต อาการเริ่มคล้ายหวัด!

0

สร้างความตื่นตระหนกได้ไม่น้อยกับกรณีสังคมออนไลน์ส่งต่อเรื่องการมีผู้เสียชีวิตจากติดเชื้อไวรัสฮันตาในฮาวาย หลังถูกส่งไปทำความสะอาดที่ห้องเก็บของที่มีซากหนูแห้งตาย แม้สุดท้ายจะได้ข้อสรุปว่าเป็นข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริง แต่เพื่อรู้ทันโรคดังกล่าว เรามาเติมความรู้เกี่ยวกับ “โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา” กันค่ะ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา” ว่า…

โรคนี้พบได้บ่อยในสัตว์ฟันแทะที่อาศัยในป่า โดยเฉพาะหนูป่าหลายชนิด ติดต่อสู่คนโดยการหายใจเอาฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนอุจจาระ ปัสสาวะ และน้ำลายของสัตว์ฟันแทะที่มีเชื้อ และจากการถูกสัตว์ฟันแทะกัดหรือรับเชื้อผ่านทางผิวหนังที่มีแผล ทางจมูกและตา รวมถึงการติดต่อจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งเชื้อไวรัสนี้สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน แต่ไม่พบว่ามีการติดต่อจากคนสู่คน

อาการที่พบมีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงรุนแรง อาการรุนแรงจะเกิดที่ปอดหรือไต ในระยะแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ อาจมีอาการมึนงง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และในรายที่รุนแรงจะทำให้เกิดเลือดออกที่ไตหรือไตวาย อาจเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ในการรักษาผู้ป่วยไม่มียาเฉพาะ จะใช้วิธีการรักษาตามอาการเท่านั้น

%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b9%80%e0%b8%8a%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b9%84%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%aa%e0%b8%ae%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b8%b2

แม้ในประเทศไทยจะยังไม่พบโรคติดเชื้อไวรัสฮันตาชนิดก่อโรครุนแรงในคน แต่โรคดังกล่าวสามารถพบได้บ่อยในสัตว์ฟันแทะที่อาศัยในป่า โดยเฉพาะในหนูป่าหลายชนิด แต่ไม่ใช่หนูทุกชนิดที่เป็นพาหะนำโรค ซึ่งในประเทศไทยก็มีโรคติดต่อจากหนูหลายโรค รวมทั้งโรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคฉี่หนู

วิธีป้องกันทั้งโรคติดเชื้อไวรัสฮันตาและโรคฉี่หนู

  1. ทำความสะอาดบริเวณที่อาจเป็นที่อยู่ของสัตว์ฟันแทะ โดยใส่ถุงมือยาง ทำให้อากาศถ่ายเท ราดพื้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ไม่กวาดพื้นหรือทำให้ฝุ่นกระจาย หากจำเป็นควรสวมผ้าปิดจมูกขณะทำความสะอาด
  2. ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด ปิดช่องหรือรูในบ้านและโรงรถไม่ให้เป็นทางให้หนูเข้าได้ อาจใช้กับดักหรือเหยื่อกำจัดหนูในบริเวณบ้าน ไม่ใช้วิธีการไล่หนู เพราะจะทำให้หนูแพร่พันธุ์มากขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียง
  3. เก็บอาหารคน อาหารสัตว์ในภาชนะปิด ปิดถังขยะให้มิดชิด ดูแลต้นไม้รอบบ้านไม่ให้เป็นที่อยู่ของหนู

ทั้งนี้ หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบากและไอ มีปริมาณปัสสาวะผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงทีค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *