โรคซึมเศร้าถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความสูญเสียด้านสุขภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังและเป็นมหันตภัยเงียบที่น่ากลัวคือ…
“คนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า และไม่กล้าที่จะพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการจนทำให้เกิดความสูญเสียอันน่าเศร้าในที่สุด”
โดยทาง องค์การอนามัยโลก คาดว่าในแต่ละปีจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนประมาณ 1 ล้านคน หรือคิดเฉลี่ยเป็น 1 คน ต่อทุก 40 วินาที ทั้งยังพบว่าการฆ่าตัวตายติดหนึ่งใน 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลก และติดอันดับที่ 3 ของสาเหตุการตายสำหรับประชากรวัย 15 – 35 ปี โดยในหลายประเทศนั้นมีข้อมูลว่าผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึงสามเท่า
การฆ่าตัวตายไม่ได้ส่งผลเสียต่อตัวผู้ที่มีความเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้าง เช่น ผู้ที่มีอาการโกรธแล้วมักใช้อารมณ์รุนแรง หากโกรธตัวเองมากๆ ก็จะฆ่าตัวตาย แต่ถ้าโกรธผู้อื่นด้วยก็จะทำร้ายหรือฆ่าผู้อื่นแล้วจึงฆ่าตัวตายตาม บางรายยังคงเป็นห่วงคนในครอบครัวจึงตัดสินใจฆ่าคนในครอบครัวก่อนแล้วฆ่าตัวตายตาม
ดังนั้น การสร้างความรู้ความเข้าเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและช่วยกันสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับคุณค่าของชีวิต เปิดโอกาสให้มีการสื่อสารซึ่งกันและกัน จึงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น และกลายเป็นเกราะป้องกันการเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงในอนาคตได้
มากกว่าครึ่งของผู้ที่ฆ่าตัวตายมีความเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าและสารเสพติด แต่มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ปรึกษาแพทย์ เพราะฉะนั้นหากเราสามารถค้นหากลุ่มเสี่ยงโดยการคัดกรองภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของคนในชุมชนได้ ก็จะสามารถนำมาเข้าสู่ระบบการรักษาร่วมกับการเข้าไปให้ความรู้เบื้องต้นแก่ประชนชนทั่วไป อันเป็นวิธีการป้องกันการฆ่าตัวตายที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง
โดยในกลุ่มผู้ที่เคยพยายามฆ่าตัวตายนี้มักจะมีโอกาสการทำซ้ำสูงมาก และนำไปสู่การฆ่าตัวตายจนสำเร็จในที่สุดได้ ฉะนั้นครอบครัวและคนใกล้ชิดสามารถพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาทางจิตเวช จะช่วยลดความสูญเสียมหาศาลทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมได้ไม่มากก็น้อย