การเล่นกีฬาบางครั้งอาจไม่ได้ทำให้สุขภาพดีร่างกายแข็งแรงเสมอไป เพราะหากเล่นผิดวิธี เล่นอย่างรุนแรงหรือหนักหน่วงจนเกิดไปก็สามารถนำไปสู่ภัยต่อสุขภาพ รวมถึงอาการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ที่เล่นกีฬาประเภทวิ่งหรือกระโดดเป็นประจำ ที่อาจเสี่ยงกับ “โรคข้อเข่านักกระโดด” ได้ค่ะ
ข้อมูลจาก นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ ระบุว่า
โรคข้อเข่านักกระโดด หรือ Jumper knee เป็นโรคที่พบได้น้อยกับคนทั่วไปเพราะกิจวัตรประจำวันไม่จำเป็นต้องกระโดดหรือวิ่งด้วยความเร็วสูงอยู่เป็นประจำ แต่พบบ่อยในกลุ่มนักกีฬา เช่น นักกีฬากระโดดสูงนักบาสเก็ตบอล นักวอลเล่ย์บอล นักกีฬาวิ่งระยะสั้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดการกระชากของเส้นเอ็นใต้กระดูกลูกสะบ้าจากการหดตัวของกล้ามเนื้อต้นขาอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เส้นเอ็นเกิดการฉีกขาด
ในระยะแรกอาจฉีกขาดเล็กๆ น้อยๆ ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและยังไม่รู้สึกถึงอาการเจ็บปวด หรือปวดเฉพาะเวลาเดินหรือวิ่งเท่านั้น แต่ถ้ายังทำกิจกรรมเดิมๆจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการฉีกขาดและเจ็บปวดมากขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดอยู่ตลอดเวลา แม้ในเวลานั่งพักเฉยๆ ซึ่งอาการจะต่างจากผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมที่ปวดลึกๆ ขัดๆ ในข้อเข่า โดยเฉพาะเข่าทางด้านใน และปวดมากเมื่องอเข่า
ด้าน นายแพทย์สมพงษ์ ตันจริยภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์กล่าวว่า
เมื่อมีอาการสามารถปฐมพยาบาลด้วยการประคบนํ้าแข็งประมาณ 5-10 นาที เพื่อลดอาการอักเสบและลดปวด แล้วพักอยู่ในท่าเหยียดเข่าตรงโดยพันผ้าเพื่อประคองข้อเข่าและลดการใช้งานของเส้นเอ็น ที่สำคัญควรพักการทำกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ
แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา รวมทั้งอาจต้องทำการรักษาทางกายภาพบำบัด เช่น การรักษาโดยใช้คลื่นเหนือเสียง (อัลตราซาวนด์) เครื่องเลเซอร์ และการออกกำลังด้วยวิธีต่างๆ โดยนักกายภาพบำบัดเป็นต้น เพื่อรักษาจุดที่อักเสบและกระตุ้นให้เส้นเอ็นที่ฉีกขาดนั้นซ่อมแซมตัวเองเร็วขึ้น สำหรับการป้องกันทำได้โดยหลีกเลี่ยงการวิ่งที่ต้องกระโดด หลีกเลี่ยงพื้นที่แข็ง เพื่อลดแรงกระแทกกระดูกที่ข้อเข่า และควรบริหารกล้ามเนื้อต้นขาให้แข็งแรงอยู่เสมอ
แม้เป็นโรคที่มีผู้ป่วยเป็นกันน้อยแต่อย่าได้นิ่งนอนใจนะคะ โดยเฉพาะผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง หมั่นสังเกตสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ หากพบว่าผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาค่ะ